“กบง.” ถก 24 พ.ค.นี้เตรียมพิจารณาราคา NGV เดือน ก.พ.หลังกำหนดลอยตัวแบบมีเงื่อนไขแล้ว ยันต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแต่จะพิจารณาไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้ ขณะที่แผนการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ธ.พ.ย้ำไม่รีบหลังผู้ค้าขายน้ำมันเกรดพรีเมี่ยมได้แสดงว่าหัวจ่ายเพียงพอ
พล.อ.ณัฐติพล กนกโชติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 24 ก.พ.จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธาน โดยวาระสำคัญที่จะมีการพิจารณากำหนดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานนต์ (NGV) ประจำเดือน ก.พ. ภายหลังได้มีการประกาศให้ลอยตัวราคาแบบมีเงื่อนไข ไปแล้วส่วนราคาจะเปลี่ยนแปลงจากราคาขายปลีกปัจจุบันยังอยู่ที่ 13.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หรือไม่จะต้องมาพิจารณาต้นทุนให้เหมาะสมและหากขึ้นจะต้องไม่กระทบให้ผู้ใช้ NGV เดือดร้อนจนเกินไป
นอกจากนี้จะมีการพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เสนอขอปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากระบบส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า (Adder) ไปเป็นเงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tarif - FIT) ซึ่งในวันที่ 16 ก.พ.นี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกครั้ง และน่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเพื่อนำสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 7 มี.ค.นี้
นายวิฑูรย์ กุลเจริญรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า จากนโยบายกระทรวงพลังงานที่ทำส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ต่างจากแก๊สโซฮอล์ 91 ขณะนี้เพียง 0.42 บาทต่อลิตร เพื่อปูทางในการยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อที่จะลดหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มเบนซินลงมาหลังจากมีผู้ค้ามองว่าไทยมีหัวจ่ายมากเกินไปนั้นล่าสุดพบว่าผู้ประกอบการบางรายทั้ง บมจ.ปตท. และเชลล์ได้จำหน่ายน้ำมันเกรดพรีเมียมในราคาสูงกว่า 3 บาทต่อลิตร จึงชี้ให้เห็นว่าหัวจ่ายมีเพียงพอนโยบายการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ก็คงจะไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแต่อย่างใดโดยปล่อยให้เป็นกลไกเสรี
“ความคืบหน้าการนำเข้าแอลพีจีล่าสุด บมจ.ปตท.ได้ทำหนังสือมาหารือเพื่อการนำเข้าก๊าซแอลพีจี เพื่อการส่งออก เพราะในขณะนี้คลังแอลพีจีส่วนขยายของ ปตท.กำลังจะแล้วเสร็จเดือนเมษายนนี้ที่มีความสามารถนำเข้า 2.5 แสนตัน/เดือน ในขณะที่การนำเข้าขณะนี้ลดลง” นายวิฑูรย์กล่าว
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การประชุม กพช. ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ คาดว่าจะมีการรายงานความคืบหน้าการเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟ) โดยเบื้องต้นจะมีการทำโครงการนำร่องในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในพื้นที่ละ 50 เมกะวัตต์ (MW) รวม 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือน เม.ย.นี้ โดยโครงการนำร่องดังกล่าวจะยังไม่มีการซื้อขายไฟฟ้าออกมาสู่ภายนอก แต่จะเป็นลักษณะการทดลองใช้ระบบการซื้อขายไฟฟ้าโดยวิธีหักลบหน่วย (Net Metering) เท่านั้น