xs
xsm
sm
md
lg

ยกเลิกเดปโป้รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ ทำแค่ที่จอดรถ ลดต้นทุนตามนโยบาย “บิ๊กตู่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” สั่ง รฟม.ยกเลิกเดปโป้ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่วงแหวนใต้ ลดขนาดเป็นแค่ที่จอดรถไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนโครงการ โดยให้ใช้เดปโป้ร่วมกับสีม่วงเหนือที่คลองบางไผ่ สนองนโยบาย “นายกฯ” ลดงานที่ไม่จำเป็นลง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการทบทวนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ในส่วนของการก่อสร้างเดปโป้ ซึ่งจะปรับเป็นที่จอดรถไฟฟ้าแทนเพื่อลดต้นทุนโครงการลง ตามนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากแนวเส้นทางของสายสีม่วงใต้จะต่อเชื่อมกับสายสีม่วงเหนือ ช่วงบางใหญ่-เตาปูน อยู่แล้ว ดังนั้นจึงสามารถใช้เดปโป้ที่คลองบางไผ่ร่วมกันเพียงแห่งเดียวได้ ส่วนการเดินรถจะเป็นรูปแบบ PPP-Gross Cost หรือจ้างบริหารเดินรถ รัฐเป็นเจ้าของ สามารถจัดสรรการใช้รางและระบบอาณัติสัญญาณร่วมกันสำหรับผู้ประกอบการเดินรถหลายรายได้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ นั้นอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อขออนุมัติกรณีต่อขยายเส้นทางอีก 5 กม. ถึงถนนวงแหวนด้านใต้ เพื่อรับกับศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งใหม่ บริเวณครุใน (บริเวณใต้สะพานกาญจนาภิเษก) เนื่องจากเป็นแนวสายทางที่เพิ่มเติมจากแผนแม่บท พร้อมกับเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปยัง สผ.คู่ขนานด้วย ส่วนการยกเลิกเดปโป้ สายสีม่วงใต้ เป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมนตรีเพื่อประหยัดการลงทุน เนื่องจากสายสีม่วงมีเดปโป้อยู่แล้วที่บางไผ่ สามารถใช้ร่วมกันได้ ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างทบทวนต้นทุนจากการปรับรูปแบบเดปโป้เป็นที่จอดรถไฟฟ้าแทน เพื่อนำเสนอที่ประชุม คจร.ในคราวเดียว

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินลงทุนรวม 131,171.94 ล้านบาท เป็นเส้นทางใต้ดินประมาณ 12.6 กม. และยกระดับประมาณ 11 กม. แบ่งเป็นสถานียกระดับ 7 สถานี และสถานีใต้ดิน 10 สถานี ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2560 เปิดให้บริการปี 2563 แต่เนื่องจากมีการปรับย้ายศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) จากเดิมที่บางผึ้ง (ใต้สะพานภูมิพล) ไปที่ริมถนนกาญจนาภิเษกวงแหวนใต้ (ข้างด่านเก็บค่าผ่านทางบางพลี-สุขสวัสดิ์ ด้านขาเข้าเมือง) พื้นที่ประมาณ 120-130 ไร่ และขยายเส้นทางออกไปอีกประมาณ 5 กม. โดยมีสถานีเพิ่มอีก 2 ถานี คือ พระประแดง และครุใน (สุขสวัสดิ์ 70) เพื่อลดผลกระทบเรื่องการเวนคืนลง ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มเติม และยังไม่ผ่าน EIA จึงต้องดำเนินการให้ครบถ้วนก่อนเสนอ ครม.

สำหรับแนวเส้นทางโครงการนั้นจะเริ่มต้นจากโครงสร้างยกระดับของสถานีเตาปูนที่แยกเตาปูนตามแนวถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ และเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระ จากนั้นไปทางทิศใต้ โดยลดระดับลงมาใต้ดินแล้วเบี่ยงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้าใกล้แนวถนนประชาราษฎร์ สาย 1 เข้าสู่แนวถนนสามเสนที่แยกเกียกกาย ผ่านแยกบางกระบือ แยกศรีย่าน เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางบำหรุ-มักกะสันที่สถานีสามเสน (แยกซังฮี้) ผ่านหอสมุดแห่งชาติ แยกเทเวศร์ แยกบางขุนพรหม เลี้ยวซ้ายที่แยกบางลำพูเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ เลียบคลองรอบกรุงไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านแยกสำราญราษฎร์ (ประตูผี) แยกเรือนจำ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายที่สถานีวังบูรพา เข้าสู่ถนนจักรเพชร ผ่านย่านการค้าสะพานหันและพาหุรัด

จากนั้นจะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ขนานกับสะพานพระปกเกล้าเข้าสู่ถนนประชาธิปก และรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลมที่สถานีวงเวียนใหญ่ แล้วไปตามถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินผ่านสำเหร่ แยกมไหสวรรย์

จากนั้นเส้นทางจะยกระดับขึ้นเหนือผิวดินเข้าสู่แยกดาวคะนองและถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกบางปะแก้ว จุดตัดถนนพระรามที่ 2 ผ่านย่านบางปะกอก แยกประชาอุทิศ (กิโลเก้า) ไปสิ้นสุดเส้นทางบนถนนสุขสวัสดิ์ ก่อนเข้าเขตอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีสาขาสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดที่ครุใน (บริเวณใต้สะพานกาญจนาภิเษก)
กำลังโหลดความคิดเห็น