ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยยังคงเป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการจำนวนมากเข้ามาเล่นในสนามนี้อยู่เป็นระยะ แต่ก็มีทั้งที่ผู้ประสบความสำเร็จและผู้ที่ต้องเจ็บตัวไม่น้อย สังเกตได้ว่าในแต่ละปี จะมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย ทั้งที่เป็นเชนและที่เป็นรายเดี่ยว
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในไทยยังคงเป็นธุรกิจที่หอมหวน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการร้านนั้นจะมีจุดเด่น หรือมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง?
“ไพศาล อ่าวสถาพร” รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฉายภาพแนวโน้มให้เห็น
*** จากนี้ไปแนวทางการดำเนินธุรกิจของ “โออิชิกรุ๊ป” จะเป็นอย่างไร ***
จากนี้ไปธุรกิจของ “โออิชิ” จะไม่เน้นหรือโฟกัสที่อาหารญี่ปุ่นอย่างเดียวแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไปทำอาหารสัญชาติอื่น เช่น อิตาลี หรือยุโรป แต่หมายความว่าเราจะอัปเกรดตัวเราเองเป็นเจ้าแห่งอาหาร หรือ “คิง ออฟ ฟูด” (King of Food) หลังจากที่เราก้าวข้ามความเป็น “คิง ออฟ แจแปน ฟูด” มาแล้วอย่างประสบความสำเร็จ คือต้องทำอะไรที่เหนือกว่าความเป็นอาหารญี่ปุ่นแบบธรรมดาเท่านั้น
*** โอกาสและศักยภาพของธุรกิจอาหารในประเทศไทยเป็นอย่างไร ***
ผมมองว่ายังมีอีกมหาศาล เพราะว่าในภาพรวมอาหารของประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่า 2.57 ล้านล้านบาท รวมทุกอย่างที่เป็นของรับประทานได้ เป็นตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อสิงหาคม 2558 ซึ่งแยกเป็นมูลค่าอาหารที่อยู่ในไทย 1.49 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 58% ส่วนอีก 42% ที่เหลือทั้งหมดเป็นมูลค่าการส่งออก ซึ่งในภาพรวมยังดีอยู่และเป็นมูลค่าที่สูงมากด้วย ส่วนคนไทยในปี 2558 มีการบริโภคอาหารประมาณ 2.2 หมื่นบาทต่อคนต่อปี เพิ่มจากปี 2557 ประมาณ 7%
ในจำนวน 1.49 ล้านล้านบาทนั้น สามารถแยกได้เป็นมูลค่าของร้านอาหารทั่วไป 70% ขณะที่การบริโภคร้านอาหารที่เป็นเชนใหญ่ๆ นั้น ยังน้อยมากเพียง 30% เท่านั้น นั่นหมายความว่าธุรกิจร้านอาหารที่เป็นเชนยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วยเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคด้วย โดยร้านอาหารในไทยไม่ว่าจะเป็นอาหารสัญชาติใดก็ตามที่มีการแจ้งจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อปีที่แล้วมีประมาณ 1 หมื่นกว่าราย แบ่งเป็นสัญชาติไทย 84% รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา 3% อันดับสามคือ ญี่ปุ่น 2% และ 1% เป็นฝรั่งเศส ส่วนที่เหลือคืออื่นๆ
*** แนวโน้มของธุรกิจอาหารในไทยจะเป็นอย่างไร อะไรที่จะเป็นปัจจัยหลักต่อธุรกิจ ***
แนวโน้มจากนี้ไปเปลี่ยนแปลงแน่นอน จะมีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นและเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจ ซึ่งอีก 5 ปีผมเชื่อว่า เทรนด์จะเป็นดังนี้ 5 อย่าง คือ 1. คลีนแอนด์กรีนฟู้ ด (Clean and Green Food) จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คุณภาพอาหาร “โออิชิ” เราคำนึงเรื่องคุณภาพมากที่สุด รวมทั้งระบบความปลอดภัยทางด้านอาหารด้วย 2. ซิกเนเจอร์เมนู (Signature Menu) คือจากนี้ไปทุกร้านอาหารจะต้องมีเมนูที่ขึ้นชื่อของตัวเอง เพื่อเป็นตัวเรียกแขก ดึงคนเข้ามาทาน ร้านในเครือเราอย่าง “นิกุยะ” ก็เริ่มทำแล้ว เช่น มีเมนูชื่อว่า “บิ๊กกุนิกุ” เป็นเมนูเนื้อชิ้นใหญ่เท่าหน้าคน
3. ออนไลน์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เริ่มมาแรงแล้วตอนนี้ ในต่างประเทศ อาหารที่ทำออนไลน์มีการเติบโตสูงมาก เราจะเริ่มพัฒนาแอปพลิเคชันและการสั่งซื้อ พร้อมประสานกับพันธมิตร โดยการทำเดลิเวอรี่ออนไลน์ของ “โออิชิ” จะเห็นได้ในสิ้นปีนี้แน่นอน 4. นิชมาร์เกต (Niche Market) เป็นอาหารเฉพาะอย่างซึ่งก็เริ่มมีการทำกันบ้างแล้ว จากนี้ไปจะเห็นมากขึ้น เช่น ถ้าเป็นอาหารญี่ปุ่นก็อาจจะเป็นร้านขายข้าวหน้าต่างๆ โดยเฉพาะ หรือร้านขายอูด้งโดยเฉพาะ หรือร้านขายราเมงโดยเฉพาะ เป็นต้น 5. อาหารจานด่วน จะเป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่มาแรงแน่นอนในอนาคตเพราะสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เร่งรีบมากขึ้น
*** การเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของ “โออิชิกรุ๊ป” มีหรือไม่อย่างไร ***
มีแน่นอน เพราะเราอยู่มากว่า 16 ปีแล้ว สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เรากำลังเริ่มปลายปีที่แล้วโดยนำทุกแบรนด์ที่เรามีอยู่ทั้งหมด คือ “โออิชิ บุฟเฟ่ต์” 19 สาขา (รวมโออิชิแกรนด์แล้ว) ร้าน “ชาบูชิ” 119 สาขา ร้าน “โออิชิราเมน” 54 สาขา ร้าน “คาคาชิ” 23 สาขา รวมมากกว่า 200 สาขา ต้องนำมาจัดระบบกันใหม่โดยทำเทรนด์เซ็นเตอร์เพื่อดูว่าอะไรที่ต้องปรับปรุง อะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง อะไรที่เป็นแบรนด์ที่ต้องขยายตัวเร็ว อะไรที่อาจจะอยู่ทรงตัว เรามีทีมงานดูที่ดูแลแบรนด์เลย แต่เราก็ต้องเน้นที่ผลกำไรด้วยเพื่อเป็นการผลตอบแทนผู้ถือหุ้น
วงจรธุรกิจเมื่อผ่านไปสักระยะก็ไม่มีความตื่นเต้นในตลาดอีกแล้ว เราต้องปรับใหม่ ปรับแบรนด์ ภาพลักษณ์ คาแรกเตอร์กันใหม่ แต่ยืนยันว่าเรายังคงทำอาหารญี่ปุ่น มีการอัพเกรดตัวเองออกไปอีก เช่น อาจจะเอาเมนูยุโรปมาประยุกต์เป็นอาหารญี่ปุ่นก็ได้ คือเป็นการอัพเกรดอาหรญี่ปุ่นของเรา
*** แผนขยายธุรกิจปี 2559 มีอย่างไรบ้าง ***
“โออิชิกรุ๊ป” ยังคงขยายตัวต่อเนื่องพร้อมการปรับปรุง เฉลี่ยลงทุนปีละ 600 ล้านบาท เปิดทุกแบรนด์รวมกัน ปีนี้จะเปิดรวมประมาณ 30-40 สาขา แต่จะเน้นหลักๆ ที่แบรนด์ “ชาบูชิ”, “นิกุยะ” และ “คาคาชิ” โดยใช้งบการตลาด 5% จากยอดขายเท่ากับปีที่แล้ว แต่ว่าฐานรายได้มากขึ้น เช่น “ชาบูชิ” เรามีแค่ 100 กว่าสาขา ขณะที่คู่แข่งแบรนด์อื่นมีเกือบ 400 สาขา นั่นหมายความว่า “ชาบูชิ” เรายังโตได้อีก 4 เท่า
ส่วนปีที่แล้วเราเปิดสาขารวมกันประมาณ 30 สาขา ขณะที่ในต่างประเทศเราก็ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง หลังจากที่ประสบความสำเร็จที่พม่ามาแล้ว ซึ่งตอนนี้ที่พม่ามี 3 สาขาแล้ว และจะเปิดอีก 2-3 สาขาในปีนี้ ที่ลาวก็มีสาขาที่เวียงจันทน์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ “ชาบูชิ” ที่ขยายตัวออกไป
“โออิชิ” ยังคงเติบโตดี แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดีก็ตาม เราเป็นบริษัทลูกของไทยเบฟฯ ไม่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุนอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าเรื่องหาทำเลดีๆ ยากมากขึ้น แต่โอกาสก็ยังมีเพราะแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยล้มหายตายจากไปมาก เราก็สามารถสร้างโอกาสในการหาทำเลได้เช่นกัน ตอนนี้มีหลายแบรนด์ทั้งที่เป็นเชนและร้านเดี่ยวเริ่มมีการล้มหายตายจากปิดตัวปิดสาขา หรือเงียบไปมาแล้ว ตามศูนย์การค้า หรือห้างฯ จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแบรนด์มากขึ้น
นอกจากแบรนด์ที่เราทำอยู่ “โออิชิกรุ๊ป” ก็ยังสร้างโอกาสพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ หรือเจรจาหาซื้อไลเซนส์แบรนด์ใหม่เข้ามาต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับโอกาสและความเหมาะสม ซึ่งปีที่แล้วเราก็เจรจากับแบรนด์ใหม่ของญี่ปุ่น ใกล้จะเรียบร้อย แต่ทางนั้นเขามีการเปลี่ยนแปลงซีอีโอพอดี แล้วซีอีโอคนใหม่มีนโยบายที่จะไม่ขยายต่างประเทศ ดีลนั้นก็เลยต้องล้มไป เป็นร้านอาหารที่จับกลุ่มพรีเมียม มูลค่า 2-3 พันบาทต่อคน ตอนนี้เราก็เลยต้องมาเริ่มคุยกับแบรนด์ใหม่
*** มองสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นอย่างไร ***
หากมองให้ดีแล้วจะเห็นว่ากลุ่มล่างและระดับกลางเท่านั้นที่หายไป แต่ว่ากลุ่มระดับบนนั้นกำลังซื้อยังมีอยู่ไม่ได้หายไหน ซึ่งเศรษฐกิจไม่ดีกระทบกับกลุ่มซีก่อนมากที่สุด แต่ปีที่แล้วกลุ่มบีก็หดตัวลงไปด้วยเช่นกัน เพราะเป็นกลุ่มที่ขยับขึ้นมาจากกลุ่มซีแต่เศรษฐกิจแย่หนักเลยกระทบไปด้วย ขณะที่ตลาดเองก็แข่งขันกันสูง ทุกรายออกโปรโมชั่นกันหนักมาก ทั้งราคา เมนู กิจกรรม อื่นๆ เพื่อดึงผู้บริโภคให้มากที่สุด
*** เป้าหมายของ “โออิชิกร๊ป” ***
เป้าหมายปีนี้เราต้องการที่จะเพิ่มยอดขายขึ้นมาอีก 1 พันล้านบาทจากปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้ยังรายงานไม่ได้ เพราะต้องรอแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน และมีการลงทุนเฉลี่ย 600 ล้านบาท เปิด 30-40 สาขาทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ตลาดรวมอาหารญี่ปุ่นเติบโตไม่ถึง 10% ถือว่าเป็นปีแรกๆ ก็ว่าได้ที่โตน้อยมาก ขณะที่จีดีพีมีมูลค่า 3% แต่ปีนี้คาดหวังว่าอาหารญี่ปุ่นโดยรวมน่าจะเติบโต 10% ได้ แต่ก็ยังเป็นห่วงเรื่องปัจจัยลบอีก เช่น ภัยแล้ง เป็นต้น