xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.หมดหวังสร้างด่วน 3 สายเหนือ ลุ้นสร้างเฉพาะช่วง N2 เชื่อมวงแหวนฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
กทพ.หมดหวังสร้างทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ (N1, N2, N3) สนข.เตรียมตั้งงบ 60 จ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์ คาดจะมีระบบรถไฟฟ้าและทางด่วนผสมกัน โดยเน้นแก้คอขวดที่แยกเกษตร ด้าน กทพ.หวังใช้ประโยชน์ตอม่อแนว N2 ที่ลงทุนไปกว่า 1 พันล้านทำเป็นทางด่วนเชื่อมต่อ ถ.วงแหวนเพื่อช่วยระบายรถ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.อยู่ระหว่างเสนอของบประมาณปี 2560 ในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์ระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมกับแนวเดิมของโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N1, 2, 3 ซึ่งมีปัญหาเดินหน้าโครงการไม่ได้เนื่องจากมีการต่อต้านจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และชุมชน ซึ่ง สนข.ได้รับมอบหมายให้ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบโครงการที่เหมาะสม ความจำเป็นที่จะก่อสร้างเป็นทางด่วนเหมือนเดิม หรือควรเป็นรถไฟฟ้า และการใช้ประโยชน์จากตอม่อที่ได้มีการก่อสร้างไว้แล้ว โดยจะสรุปผลศึกษาในปี 2560 จากนั้นจะนำเสนอระดับนโยบายพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ สนข.จะทำการศึกษาวิเคราะห์ตลอดแนว N1, N 2, N3 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีทั้งระบบรถไฟฟ้าและทางด่วนผสมกัน โดยประเด็นสำคัญคือ จะต้องแก้ปัญหาบริเวณแยกเกษตรที่ปัจจุบันมีสภาพเป็นคอขวดด้วย

“ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคม, การทางพิเศษฯ, ม.เกษตรฯ, ชุมชน ได้ประชุมร่วมกันหลายครั้ง และเสนอให้ ม.เกษตรฯ วิเคราะห์และทำข้อมูล แต่เนื่องจาก ม.เกษตรฯ ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อประมาณเดือน ส.ค. 58 จึงมอบให้ สนข.วิเคาะห์ ซึ่งขอตั้งงบประมาณปี 59 ไม่ทัน จึงต้องเสนอขอในปี 60”

ด้านนายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า แนวคิดเบื้องต้นเห็นว่าในตอน N1 ที่มีผลกระทบต่อ ม.เกษตรฯ นั้น อาจจะปรับเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา (โมโนเรล) ส่วน ตอน N2 ซึ่งก่อนหน้านี้ กทพ.ได้ลงทุนก่อสร้างฐานราก (ตอม่อ) ไปกว่ามูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทนั้น จะต้องศึกษาหาแนวทางที่จะใช้ประโยชน์จากตอม่อที่มีได้อย่างไร เช่น ต่อ N2 เชื่อมกับถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก) ซึ่งจะห่างจากแยกเกษตรนวมินทร์ประมาณ 2 กม. ขณะที่ตอน N3 ปัจจุบันพบว่าสภาพพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก มีความเป็นไปได้ที่จะปรับแนวเส้นทางใหม่ เป็นต้น

สำหรับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1, 2, 3) ระยะทาง 42.9 กม. มีเป้าหมายเพื่อรองรับปริมาณจราจร East-West Corridoor ของกรุงเทพฯ โดยช่วง N1 (ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตก บริเวณแยกบางใหญ่-แยกเกษตรศาสตร์) ระยะทาง 19.2 กม. ถูกมหาวิทยาลัยเกษตรฯ คัดค้าน ช่วง N2 (แยกเกษตร-ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนนวมินทร์) ระยะทาง 9.2 กม. และช่วง N3 (นวมินทร์-ถนนเสรีไท-ถนนรามคำแหง
สิ้นสุดที่ถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ บริเวณถนนศรีนครินทร์) ระยะทาง 11.5 กม.
กำลังโหลดความคิดเห็น