xs
xsm
sm
md
lg

ขนส่งทางบกกลางเคาะลดค่าตั๋ว บขส.-รถร่วมฯ 1 สต./กม. เริ่ม 15 ก.พ.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม
น้ำมันดีเซลลดต่อเนื่องหลุดต่ำกว่า 20 บาท/ลิตร กรรมการขนส่งทางบกกลางเคาะลดค่าตั๋วโดยสาร รถ บขส.-รถร่วมเอกชน ลง 1 สต./กม. มีผลตั้งแต่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการพิจารณาปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะตามราคาน้ำมันดีเซลที่มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ได้มอบหมายให้คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบก ที่มีนายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิจารณาความเหมาะสม ทั้งนี้ ตามข้อตกลงร่วมกันนั้น หากราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงต่อเนื่องเกิน 3 บาทต่อลิตรจะต้องมีการพิจารณาเพื่อทำการปรับลดอัตราค่าโดยสาร ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลก่อนหน้านี้อยู่ที่ 22.50 บาทต่อลิตร ส่วนราคาปัจจุบันขณะนี้อยู่ที่ 19.74 บาทต่อลิตร ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่จะต้องพิจารณาปรับลดค่าโดยสาร

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ส.ค. 2558 ได้มีการปรับลดราคาค่าโดยสารรถ บขส. และรถร่วมฯ เอกชนไปแล้วที่ 3 สต.ต่อ กม. และจากนั้นในเดือน พ.ย. 2558 ได้มีประกาศ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้ผู้ประกอบการสามารถปรับลดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 20% เพื่อทำราคาแข่งขันทางการตลาดกับระบบขนส่งอื่น เช่น โลว์คอสต์แอร์ไลน์ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารรถ บขส. หรือรถร่วมเอกชน (Load Factor) นั้นปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 50-60% จากเดิม 70-80% ซึ่งการคำนวณพบว่าค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาลดลงนั้นประมาณ 30% ของต้นทุนทั้งหมด แต่ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าอะไหล่ ไม่ได้ลดลง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการบังคับให้ติดตั้งระบบ GPS ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ต้องนำปัจจัยเหล่านี้ไปคำนวณด้วย

นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ได้พิจารณากำหนดทบทวนอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทาง หมวด 2 และหมวด 3 โดยมีมติให้ปรับลดอัตราค่าโดยสารลง 1 สตางค์ต่อ กม. ณ ราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 19.74 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 ก.พ. 2559 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การพิจารณาใช้ราคาน้ำมันดีเซลที่ 19.74 บาทต่อลิตร พร้อมกับนำปัจจัยต่างๆ รวมถึง Load Factor เฉลี่ยที่ 62% โดยเป็นตัวเลขที่อ้างอิงจาก บขส.มาคำนวณ พบว่าค่าโดยสารควรจะปรับลดลงที่ 1 สตางค์ต่อ กม. นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ บขส.ไปหาวิธีการในการปรับวิธีการคำนวณปัจจัยที่จะนำมาคำนวณต้นทุน ทั้งค่าตัวรถ ค่า GPS ค่าเสื่อมต่างๆ

สำหรับรถโดยสารประจำทาง หมวด 2 คือ รถโดยสารที่วิ่งประจำอยู่ในเส้นทางที่มีจุดเริ่มต้นจากสถานีขนส่งในกรุงเทพฯ และไปสุดเส้นทางที่จังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาค และรถโดยสารประจำทาง หมวด 3 (คือ รถโดยสารที่วิ่งประจำอยู่ในเส้นทางที่มีจุดเริ่มต้นในจังหวัดหนึ่ง และไปสุดเส้นทางในอีกจังหวัดหนึ่งในส่วนภูมิภาค)
กำลังโหลดความคิดเห็น