เงินเฟ้อ ม.ค. 59 ลดลง 0.53% ขยายตัวติดลบเป็นเดือนที่ 13 ต่อเนื่องกัน เผยราคาน้ำมันลดลงยังคงเป็นสาเหตุหลักฉุด แม้สินค้ารายการอื่นจะเริ่มขยับขึ้นแล้ว คาดเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในแดนลบอีก หลังน้ำมันยังดิ่ง
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือน ม.ค. 2558 เท่ากับ 105.46 เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา ลดลง 0.26% และเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2558 ลดลง 0.53% ซึ่งเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 นับจากเดือน ม.ค. 2558 ที่เป็นเดือนแรกที่เงินเฟ้อเริ่มขยายตัวติดลบที่ 0.41% และจากนั้นขยายตัวติดลบมาโดยตลอดทั้งปี 2558
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2559 ติดลบ 0.53% มาจากการลดลงของหมวดพลังงานตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ลดลง ทั้งดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน และยังมีการลดลงของค่าโดยสารรถประจำทาง เรือ ค่าผ่านทางพิเศษ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แต่หมวดผักและผลไม้สด ปลาและสัตว์น้ำ อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ค่าเช่าบ้าน ค่าตรวจรักษาและค่ายา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีราคาสูงขึ้น
“สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารสด ของใช้ในบ้าน และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ราคาปรับตัวขึ้นเล็กน้อย และเมื่อดูเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ตัดกลุ่มอาหารสดและพลังงานออก ก็เป็นบวก 0.59% แสดงว่าสินค้าเริ่มมีการขยับราคาขึ้น แต่เมื่อเทียบกับราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงถึง 15.30% ซึ่งติดลบมากกว่า จึงเป็นแรงฉุดสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบ”นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อน่าจะยังขยายตัวอยู่ในแดนลบ เพราะลดลงตามราคาพลังงาน ส่วนจะเริ่มขยายตัวเป็นบวกได้เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน เพราะเดิมเคยประเมินไว้ว่าราคาน้ำมันน่าจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว แต่มาถึงเดือน ม.ค. น้ำมันก็ยังไม่ขึ้น และยังมีคนเริ่มพูดอีกว่าน้ำมันจะลงไปถึง 20 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล หากเป็นตามนี้ เงินเฟ้อก็จะยังคงติดลบไปอีกนาน
ส่วนการที่เงินเฟ้อติดลบมาต่อเนื่อง ยืนยันว่าไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อที่หักอาหารสดและพลังงานออก ก็ยังเป็นบวก เพียงแต่ว่าขณะนี้ กำลังซื้ออ่อนตัวลง เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ความต้องการซื้อสินค้ายังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไป
นายสมเกียรติกล่าวว่า สำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2559 ประเมินไว้ว่าจะอยู่ระหว่าง 1-2% โดยมีสมมติฐานหลัก คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ระหว่าง 48-54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36-38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งในเดือน มี.ค. 2559 จะมีการประเมินตัวเลขเงินเฟ้ออีกครั้งว่าจะยังยืนตัวเลขเดิมหรือไม่ เพราะขณะนี้ปัจจัยต่างๆ เริ่มเปลี่ยน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง