xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทญี่ปุ่น “โตชิบา-ฟูจิตสึ” ชมไทยมีระบบป้องกันการส่งออกสินค้าที่นำไปใช้ทำอาวุธและก่อการร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น “โตชิบา-ฟูจิตสึ” ชมไทยมีระบบบริหารจัดการสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ป้องกันการนำไปใช้ทำอาวุธ และป้องกันการก่อการร้ายได้เป็นอย่างดี แนะออกกฎหมายดูแลการค้าสินค้าที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง คาดทำให้ผู้ประกอบการตื้นตัวมากขึ้น พร้อมหนุนธุรกิจเร่งปรับตัวให้ได้ภายใน 2 ปี

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะผู้แทนจากศูนย์ข้อมูลการควบคุมความมั่นคงทางการค้า (CISTEC) ประเทศญี่ปุ่น นำโดยนาย Shinichi Totsuka จากบริษัท โตชิบา และนาย Hitoshi TEZUKA จากบริษัท ฟูจิตสึ จำกัด พร้อมคณะ รวม 11 คน เดินทางมาหารือกับกรมฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในโอกาสที่ไทยกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการบริหารการค้าสินค้าที่ใช้ได้สองทางของไทย (e-TMD) หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าต้องขออนุญาต และต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2561

“ผู้แทน CISTEC ได้แสดงความชื่นชมต่อระบบและการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการบริหารสินค้าที่ใช้ได้สองทางของไทย โดยเฉพาะระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง หรือ e-Self Certification ในการอำนวยความสะดวกผู้ส่งออกสินค้าที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (DUI) รับรองตนเองก่อนส่งออก”

นางดวงพรกล่าวว่า คณะผู้แทนจากญี่ปุ่นยังได้ขอให้ไทยเร่งออกกฎหมายเป็นการเฉพาะ คือ พ.ร.บ.การค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการตื่นตัวในการปฏิบัติตามมาตรการได้มากขึ้น และเสนอให้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นใจต่อมาตรการดังกล่าวว่าจะไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ และเห็นด้วยกับการที่ไทยชะลอระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายหลังออกประกาศเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ ในการเตรียมความพร้อมและจัดสรรโครงสร้างภายในบริษัท ให้เป็นไปตามมาตรการของไทย

อย่างไรก็ตาม ไทยได้ย้ำว่ามาตรการ TMD ของไทยจะไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการ และจะยังคงพัฒนาและปรับปรุงระบบ e-TMD ให้มีความสมบูรณ์สอดคล้องตามหลักสากล และต้องเหมาะสมกับรูปแบบการทำการค้าต่างประเทศของไทยต่อไป

สำหรับ CISTEC เป็นหน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไร ในการเป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูลข่าวสารด้านการควบคุมการส่งออกที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2532 ภายหลังเหตุการณ์ Toshiba Machine ที่สหรัฐฯ ได้ประณามและยกเลิกการนำเข้าสินค้าของบริษัท รวมทั้งสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น และได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกของญี่ปุ่น และด้วยเหตุดังกล่าว ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจึงรวมตัวกันจัดตั้ง CISTEC ขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรการรักษาความมั่นคงและสันติภาพของโลก ปัจจุบัน CISTEC มีบุคลากรประมาณ 40 คน และสมาชิก 422 บริษัทจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และการสื่อสาร เป็นต้น

ทั้งนี้ สินค้าที่ใช้ได้สองทาง หมายถึงสินค้าและเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางพาณิชย์และทางทหาร ทางสงคราม เพื่อผลิตอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เช่น คาร์บอนไฟเบอร์ สามารถนำมาใช้ในอุปกรณ์กีฬา ได้แก่ ไม้เทนนิส ไม้กอล์ฟ ในขณะเดียวกันยังสามารถนำมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนขีปนาวุธได้ สารไตรเอทาโนลามีนที่ใช้ในการทำสบู่ ผงซักฟอก และโลชั่น ก็สามารถนำไปใช้ทำสารพิษ หรือควันพิษที่ใช้ในการก่อการร้ายได้ รวมถึงน้ำมันละหุ่ง ใช้เป็นอาวุธชีวภาพ และไส้ตะเกียงที่เคลือบลวดทังสเตนในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้เป็นอาวุธได้เช่นกัน

ปัจจุบันมีสินค้าที่อยู่ในบัญชีรายการสินค้าที่ใช้ได้สองทางมีประมาณ 1,700 รายการ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกหลายแสนล้านบาทต่อปี โดยมีผู้ส่งออกประมาณกว่า 10,000 ราย และหากไทยไม่มีระบบการควบคุมอย่างดีพอ อาจจะทำให้คู่ค้านำมาใช้เป็นข้ออ้างในการออกมาตรการกีดกันทางการค้ากับไทยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น