เอเจนซีส์ - โตชิบา คอร์ป ฟูจิตสึ แอลทีดี และ Vaio Corps ใกล้ได้ข้อยุติความร่วมมือ “ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี” ด้วยการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โดยที่มีแนวทางเบื้องต้นว่าบริษัททั้ง 3 นี้จะยังคงใช้ชื่อแบรนด์ทั้งสามต่อไป โดยให้เหตุผลว่ามีภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าที่ยังคงแข็งแกร่ง
เจแปน ไทม์ส สื่อญี่ปุ่นรายงานเมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์ญี่ปุ่น โตชิบา คอร์ป ฟูจิตสึ แอลทีดี และ Vaio Corps ที่แยกตัวออกมาจากบริษัทโซนี่ก่อนหน้านี้ มีแผนที่จะจัดตั้งบริษัทเพื่อผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในเวลาอันใกล้นี้
แต่อย่างไรก็ตาม จากรายงานพบว่าทางบริษัททั้ง 3 จะยังคงใช้ชื่อแบรนด์สินค้าของตนต่อไป โดยโตชิบาใช้ชื่อแบรนด์ “ไดนาบุ๊ก” (Dynabook) ส่วนฟูจิตสึจะยังคงใช้ชื่อ “FMV” และ Vaio ใช้ชื่อแบรนด์สินค้า “Vaio” ต่อไป
และในข้อตกลงใหม่นี้ สื่อญี่ปุ่นรายงานว่าจะได้เห็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของบริษัทโตชิบา ฟูจิตสึ และ Vaio ซึ่งมีรายงานว่าการหาความร่วมมือนี้ทางบริษัทยักษ์ใหญ่คอมพิวเตอร์แบรนด์ดังของแดนอาทิตย์อุทัยจะพยายามเกิดขึ้นให้ทันก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2016 ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดงบดุลบัญชีปี 2015
โดยบริษัททั้งสามมีเป้าหมายต้องการแย่งตำแหน่งอันดับ 1 ในตลาดพีซีจากบริษัท NEC Lenovo ญี่ปุ่น
ทั้งนี้ เจแปน ไทม์สรายงานต่อว่า ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้โตชิบามีแผนจะแยกธุรกิจเครื่องคอมพิวเตอร์ออกมา ได้ออกแถลงการณ์ล่าสุดในเดือนนี้ชี้ว่าจะกอบกู้สถานการณ์ตลาดคอมพิวเตอร์พีซีของตัวอย่างไร รวมไปถึงแนวทางการบริหารงานอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
ส่วนฟูจิตสึได้ประกาศแยกธุรกิจคอมพิวเตอร์ในเดือนนี้เช่นกัน
นอกจากนี้สื่อญี่ปุ่นยังรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งโตชิบาและฟูจิตสึมีแผนที่จะถือหุ้นในบริษัทที่จะร่วมกันจัดตั้งใหม่ต่ำกว่า 50% ด้วยความหวังว่าไม่ต้องการให้ในส่วนของผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์มาเป็นภาระต่อโครงสร้างผลประกอบการของบริษัท
โดยในต้นเดือนธันวาคม 2015 เจแปนไทม์สรายงานว่า สื่อธุรกิจญี่ปุ่น นิกเกอิเผยว่า บริษัททั้ง 3 มีแผนที่จะถือหุ้นคนละ 30%
ด้านบริษัทแม่ของ Vaio Japan Industrial Partners, Inc ที่ได้ซื้อธุรกิจคอมพิวเตอร์ Vaio ต่อมาจากบริษัทโซนี่ในปี 2014 คาดหวังว่าบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้จะกำหนดทิศทางใหม่ให้กับธุรกิจคอมพิวเตอร์แบรนด์ Vaioได้
โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่ารายได้จากคอมพิวเตอร์ Vaio ทำผลประกอบการขาดทุนหนัก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดในญี่ปุ่นไม่ถึง 2%
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่าถือเป็นเรื่องน่ายินดีในการประกาศการรวมธุรกิจคอมพิวเตอร์ของทั้งสามบริษัทเข้าด้วยกันที่มีมูลค่าการตลาดสูง โดยเมื่อมองจากสัดส่วนการตลาดในญี่ปุ่น มูลค่าการตลาดของทั้งโตชิบา ฟูจิตสึ และ Vaio รวมกันอยู่ที่ 30.2% ในครึ่งปีแรกของงบดุลบัญชีปี 2015 ในขณะที่บริษัท NEC Lenovo ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอันดับ 1 มีส่วนแบ่งสูงถึง 27.7% อ้างอิงจากรายงานสถาบันวิจัย MM ที่มีฐานในกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น
แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างเตือนว่าไม่ง่ายนักที่จะทำให้ธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่เคยขาดทุนอย่างหนัก และอยู่ในตลาดที่มีการเติบโตช้า จะสามารถกลับมาได้อีกครั้ง เพราะจะต้องมีความก้าวหน้าทางผลิตภัณฑ์เปิดสู่ตลาด ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งดีว่าบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ทั้งสามแห่งนี้จะสามารถนำเทคโนโลยีเชี่ยวชาญของตนขึ้นมาวางบนโต๊ะก็ตาม