ผู้จัดการรายวัน 360 - “ทีเส็บ” ขานรับนโยบาย “รองนายกฯ สมคิด” ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และธุรกิจไมซ์ เร่งเครื่องส่งเสริมการประชุมและงานแสดงสินค้าในประเทศ สานต่อแคมเปญ “ประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ” เน้นการนำเสนอเดสติเนชันใหม่ เพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ สำหรับการจัดกิจกรรม พร้อมดึงไมซ์ CLMV เข้าไทย ตั้งเป้าตลาดไมซ์ในประเทศเติบโตก้าวกระโดดในไตรมาส 2 และ3 ของปี
นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า ตามที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยคณะทำงานร่วมรัฐ เอกชน ประชาชน (ประชารัฐ) ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจไมซ์ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางทั้งการเพิ่มการกระจายรายได้ การยกระดับรายได้ และการสร้างความยั่งยืนนั้น “ทีเส็บ” จึงได้กำหนดแผนการขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ที่สอดคล้องกันกับนโยบายดังกล่าว
แนวทางแรกคือ การกระจายรายได้ และยกระดับรายได้ด้วยธุรกิจไมซ์ภายในประเทศ เริ่มด้วยมาตรการ “Quick Win” ส่งเสริมการประชุม และสัมมนาในประเทศโดยเน้น “New Destination” ที่รองรับกลุ่มการประชุม และสัมมนาภายในประเทศ โดยเฉพาะการศึกษาดูงานและการจัดกิจกรรมองค์กรในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือโครงการส่วนพระองค์
ในปี 2559 เป็น “ปี 3 ปีติ” ที่จะมีงานเทิดพระเกียรติยิ่งใหญ่ จำนวน 3 งาน ได้แก่ (1) ครบรอบ 70 ปีครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา หรือ 7 รอบ (3) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา “ทีเส็บ” จึงได้คัดเลือกโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือโครงการส่วนพระองค์ของทุกพระองค์ที่มีศักยภาพในการรองรับกลุ่มประชุมสัมมนาเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์พระอัจฉริยภาพ และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการประชุมสัมมนาในประเทศมากยิ่งขึ้น
ต่อด้วย การเสนอ “Quick Win Promotion” ให้แก่นักเดินทางกลุ่ม “ดีไมซ์” ทั้งกลุ่มประชุมสัมมนา และการแสดงสินค้าในประเทศ โดยกลุ่มประชุมสัมมนา (Domestic Meetings and Incentives และ Domestic Conventions) จะสนับสนุนด้านงบประมาณตั้งแต่ 3 หมื่นบาท ถึง 8 แสนบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนกลุ่มผู้เข้าประชุม โดยการสนับสนุนนั้นจะนำไปใช้สำหรับกิจกรรมที่ส่งเสริมการประชุมสัมมนา เช่น การจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กลุ่ม (Team Building) การจัดทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม (CSR) ค่าอาหารว่างสำหรับการประชุม และค่าวิทยากร เป็นต้น
สำหรับการแสดงสินค้าภายในประเทศ (Domestic Exhibition) จะสนับสนุนงานแสดงสินค้าที่มีการกระจายงานไปสู่ภูมิภาค (Clone) และการสร้างงานแสดงสินค้าใหม่ในต่างจังหวัด (Invent) เน้นการจัดงานเพื่อส่งเสริมการลงทุน โดยสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท เพื่อให้มีการขยายการลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2559 จะเน้นการกระตุ้นตลาดในประเทศ ประเภทการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Domestic Meetings and Incentives) เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายได้มากที่สุดในช่วงครึ่งปีสอดรับต่อนโยบายของรัฐบาล
แนวทางที่สอง คือ การสร้างความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจไมซ์ซึ่งนับเป็นมาตรการระยะกลางและระยะยาว โดยรัฐบาลจะเน้นการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ด้วยการเพิ่มศูนย์ประชุมนานาชาติ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในกลุ่มจังหวัด รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ สำหรับการจัดกิจกรรม และการเพิ่มสินค้าและบริการในท้องถิ่น ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมาย ข้อระเบียบเพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านไมซ์ และการท่องเที่ยว
ในมาตรการนี้ “ทีเส็บ” ได้เน้นย้ำลงในแผนการทำงานเชิงปฏิบัติเพื่อพัฒนา “เมืองไมซ์ซิตี้ของประเทศไทย” เน้นการชูศักยภาพของเมืองไมซ์ด้วย “Flagship Event” หรืองานอีเวนต์ที่สำคัญเพื่อเป็นจุดขาย และเสริมให้เกิดการใช้พื้นที่ในการจัดงานไมซ์ ต่อยอดแคมเปญ “ประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ” กระตุ้นส่งเสริมให้ทุกหน่วยงาน และประชาชนทั่วประเทศร่วมใจกันจัดและเข้าร่วมการประชุมและงานแสดงสินค้าในประเทศ รวมทั้งการขยาย “MICE Cluster” สร้างทางเลือกด้านเดสติเนชัน และสินค้าและบริการใหม่ให้แก่นักเดินทางกลุ่มไมซ์
นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์ดึงลูกค้ากลุ่มการจัดประชุมของบริษัทจดทะเบียนหลักทรัพย์ในตลาดอาเซียน ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และไทยสามารถใช้จังหวะนี้เสนอตัวเป็นประเทศในการจัดประชุมสัมมนา โดยเฉพาะจุดแข็งในการเข้าถึงตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่ง “ทีเส็บ” ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดึงนักเดินทางจากกลุ่ม CLMV มาจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทย
“คณะกรรมการ ทีเส็บ ยังได้ผลักดันให้มีร่างพระราชบัญญัติอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคบริการทั้งหมด โดยพระราชบัญญัตินี้จะเป็นการนำเสนอแพกเกจพิเศษสำหรับผู้ประกอบการมีสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องต่ออุตสาหกรรมไมซ์ เช่น การลดหย่อนภาษี เป็นต้น ซึ่งการมีพระราชบัญญัตินั้นจะเป็นการส่งเสริมวงจรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไมซ์อย่างยั่งยืน สนองตอบต่อความต้องการทั้งหน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากประเทศไทยในการเป็นเดสติเนชันของการจัดงานไมซ์”
การดำเนินงานด้านการส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาภายในประเทศ หรือธุรกิจดีไมซ์ ปีงบประมาณ 2558 มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศ จำนวน 23,702,488 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายถึง 46,401 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายในปีงบประมาณ 2559 นั้น “ทีเส็บ” ได้ตั้งเป้าหมายด้านจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศ และรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 โดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่เติบโตขึ้นในไตรมาสที่ 2 และ 3 ด้วยมาตรการ QUICK WIN โดยมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันให้มีกิจกรรม “ธุรกิจดีไมซ์” ทั่วประเทศได้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ ในปี 2559 มีกิจกรรม “ดีไมซ์” สำคัญต่อเนื่อง เช่น งาน Thailand Domestic MICE Mart 2016, งาน Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor (LIMEC) International Conference “PhuDoo” 2016, งานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ, งานประชุม 50 ปีสมาคมการจัดงานบุคลากรแห่งประเทศไทย เป็นต้น