xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเอ็มโอยูกับ 13 บริษัทเอกชน-สังคม ยกระดับวิชาชีพอาชีวะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาครัฐจับมือภาคเอกชน 13 บริษัทชั้นนำและภาคประชาสังคม ลงนามเอ็มโอยูความร่วมมือสานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา หวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสู่ระดับโลก วางเป้าหมาย 2 ปีก่อนร่วมทบทวนต่อยอด “สมคิด” ชูพลังประชารัฐเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา (Competitive Workforce) ของคณะทำงานการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐที่ประกอบด้วย 2 กระทรวง คือ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชนประกอบด้วย 13 บริษัทชั้นนำ โดยมี นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) ตัวแทนภาคประชาสังคม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประเทศชาติมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น พลังประชารัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงประเทศได้ หากไม่มีการร่วมมือกันของประชารัฐเชื่อว่าการขับเคลื่อนเป็นไปได้ยาก ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ผลักดันและส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้น 2 ปี และเมื่อครบ 2 ปีแรกทุกฝ่ายจะร่วมกันประเมินการทำงานและพิจารณาทบทวนร่วมกันอีกครั้งเพื่อต่อยอดขยายผลต่อไป

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ กล่าวว่า คณะทำงานมีภารกิจสำคัญ 5 ประการ คือ 1. การสร้างค่านิยมและแรงจูงใจให้เด็กหันมาเรียนอาชีวะมากขึ้น 2. ผลิตนักเรียนอาชีวะในสาขาที่ขาดแคลนในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ 3. สร้างคุณภาพให้แก่นักเรียนอาชีวะ 4. การสร้างอาชีวะให้มีความเป็นเลิศในแต่ละด้าน และ 5. ผลักดันไปสู่ระดับสากล โดยจะมีความร่วมมือกับประเทศชั้นนำรวมทั้งอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ภาครัฐจะดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวลุล่วงตามเป้าหมาย รวมทั้งมีการวางแผนชัดเจนเพื่อให้เดินหน้า รวมทั้งผลักดันผลตอบแทนหรือรายได้แก่ผู้ที่จบอาชีวะโดยพิจารณาจากความสามารถ ไม่ใช่วุฒิ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนการยกระดับวิชาชีพอาชีวศึกษา แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก (Quick Win) จะใช้เวลา 6 เดือนในการรีแบรนดิ้งเพื่อสร้างแรงจูงใจและความภาคภูมิใจแก่บุคลากรสายวิชาชีพ 2. คัดเลือกสถาบันศึกษาที่มี รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ตรงตามความต้องการ และ 3. ร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูล

ระยะ Midium&Long term จะมีคณะทำงานกำหนดมาตรฐานทักษะวิชาชีพ การเรียนการสอน และพัฒนาหลักสูตร เป็นต้น

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า แต่ละปีมีการตั้งโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 4-5 พันแห่ง มีความต้องการแรงงานถึงปีละ 1.6-3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานระดับอาชีวศึกษา นับจากนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานด้านไหนเพื่อให้ภาครัฐสามารถผลิตแรงงานได้ตรงตามที่ต้องการ
กำลังโหลดความคิดเห็น