xs
xsm
sm
md
lg

GPSC จ่อลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในญี่ปุ่นเพิ่ม เล็งโครงการใช้ถ่านหินร่วมไบโอแมส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


GPSC ศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับไบโอแมสขนาด 200-300 เมกะวัตต์ที่ญี่ปุ่น คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 1-2 ปีข้างหน้า รวมทั้งเล็งขยายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เฟส 2 ในญี่ปุ่นเพิ่มเติม โดยจะหาพันธมิตรท้องถิ่นร่วมทุนแทนการซื้อกิจการเหมือนเฟสแรก

นายโกวิท จึงเสถียรทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายแผนงานองค์กร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับไบโอแมส เช่น วูดพาเลตไม้อัดแท่ง หรือกะลาปาล์ม ขนาดกำลังผลิต 200-300 เมกะวัตต์ ที่ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะมีความชัดเจนในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยไทยและอินโดนีเซียเป็นประเทศส่งออกวูดพาเลตและกะลาปาล์มไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับไบโอแมสถือเป็นเรื่องใหม่ที่บริษัทฯ จะต้องศึกษาเรื่องเทคโนโลยี และวัตถุดิบให้รอบคอบ โดยกลุ่ม ปตท.มีบริษัทเทรดดิ้งที่สามารถจัดหากะลาปาล์มหรือวูดพาเลตมาป้อนโครงการดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันก็ต้องหาพันธมิตรท้องถิ่นในการร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าดังกล่าวด้วย

ความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 20.8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2560 ทั้งนี้ บริษัทมีความกังวลว่าฤดูหนาวที่ญี่ปุ่นหิมะจะเป็นอุปสรรคในการผลิตไฟฟ้าได้ ดังนั้นคงต้องหารือกับการไฟฟ้าของญี่ปุ่นในฐานะผู้รับซื้อไฟว่าจะกำหนดการจ่ายไฟ (COD) วันใดเพื่อให้เหมาะสมกับการสร้างสายส่งไฟฟ้าที่จะเข้ามาเชื่อมกับโรงไฟฟ้า

ส่วนแผนการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เฟส 2 ในญี่ปุ่นนั้นบริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างการศึกษาเช่นกัน โดยจะดึงพันธมิตรท้องถิ่นเข้ามาร่วมทุนด้วย ขนาดกำลังการผลิตจะน้อยกว่าเฟสแรก คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ภายในปี 2559

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในบริษัท Ichinoseki Solar Power - 1 GK ในสัดส่วน 99% เพื่อดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังผลิต 20.8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 60

ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนที่เดินเครื่องผลิตแล้ว 1.3 พันเมกะวัตต์ โดยมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2.8 พันเมกะวัตต์ภายในปี 2563 ซึ่งจะมาจากโครงการทั้งในและต่างประเทศ โดยขณะนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในอาเซียนเพิ่มเติมด้วย โดยในเดือน มิ.ย.ปีนี้บริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า SPP ที่นวนคร กำลังการผลิต 127เมกะวัตต์ บริษัทฯ ถือหุ้น 30% นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 ได้แก่ โรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ (IRPC CP) เฟส 2 และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนโครงการศูนย์ผลิตสาธารณูปโภคแห่งที่ 4 (Cup 4) ขนาด 40 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคา รับเหมาก่อสร้าง

“เดิมบริษัทตั้งเป้าหมายลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนให้ได้ 200 กว่าเมกะวัตต์ในปี 2563 ก็อาจจะต้องทบทวนแผน เนื่องจากญี่ปุ่นได้กำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าประเภทต่างๆ อาจต้องมองโอกาสการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น