อนุฯ โครงสร้างพื้นฐานเขตเศรษฐกิจพิเศษชงแผนลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและลอจิสติกส์ ปี 60 จำนวน 169 โครงการ วงเงิน 18,383 ล้านบาท พร้อมเร่งออกแบบสะพานเชื่อมด่านบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท ให้เสร็จภายใน 1 ปี ขณะที่ผลหารือ “นายกฯ ไทย-กัมพูชา” เพิ่มข้อตกลงรถบรรทุกและรถโดยสารไม่ประจำทางข้ามแดนจากประเทศละ 40 คัน เป็น 500 คัน และเพิ่มเที่ยวรถโดยสาร เส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ จาก 2 เป็น 4 เที่ยว/วัน
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรว่า กระทรวงฯ ได้ติดตามความก้าวหน้าเพื่อสรุปรายละเอียดแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ด่านศุลกากร จุดผ่านแดน เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 ซึ่งมี 6 จังหวัด 7 พื้นที่ และระยะที่ 2 มี 4 จังหวัด โดยเบื้องต้นจะมีการลงทุนเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 110 โครงการ วงเงิน 4,777 ล้านบาท และงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและลอจิสติกส์ สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 59 โครงการ วงเงิน 13,606 ล้านบาท โดยเป็นการเตรียมการแผนงานเพื่อขอจัดตั้งงบดำเนินการในปี 2560 พร้อมกันนี้ จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในการประชุมวันที่ 18 ม.ค.นี้ด้วย
นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดการพัฒนาด่านบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท โดยให้กรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัดการออกแบบ และก่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างสองประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งจะต้องเร่งเตรียมพื้นที่และงบประมาณ ส่วนการพัฒนาด่านพุน้ำร้อน (กาญจนบุรี) เชื่อมกับประเทศพม่านั้น จะต้องเจรจากับพม่าเพื่อออกแบบด่านของทั้งสองฝั่งให้มีความสอดคล้องกัน พร้อมทั้งดูแหล่งทุนในการก่อสร้างด้วย สำหรับโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ กาญจนบุรี-พุน้ำร้อนนั้น กรมทางหลวงอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ภาพรวมแผนลงทุนเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น จะมีทั้งโครงการใหม่และโครงการต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการในงบประมาณปี 2560 โดยงานในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมจะเป็นโครงการถนน เช่น ก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง ปรับปรุงถนนสายหลัก จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร และโครงการทรัคเทอร์มินอล (กรมการขนส่งทางบก) ใน 3 จังหวัด คือ แม่สอด, หนองคาย, สระแก้ว ซึ่งเบื้องต้นจะก่อสร้างในพื้นที่ของ กนอ. ซึ่งกรมการขนส่งฯ จะต้องหารือกับ กนอ.เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้ แต่หากไม่ได้จะต้องหาพื้นที่นอก กนอ.ต่อไป ส่วนกระทรวงอื่น เช่น การพัฒนาด่าน การจัดแหล่งน้ำ กรมชลประทานจะช่วยดูการพัฒนาของการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.)
สำหรับงานที่ต้องเร่งดำเนินการตามการหารือร่วมกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในส่วนของคณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร คือ การเร่งเปิดจุดผ่านแดน บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท, การเชื่อมโยงคมนาคมทางถนนระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันในการเพิ่มใบอนุญาตรถบรรทุกและรถโดยสารไม่ประจำทาง จากเดิม ประเทศละ 40 คัน เป็นประเทศละ 500 คันให้สามารถวิ่งผ่านจุดผ่านแดนและถนนสายหลักได้ และทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในการเพิ่มเที่ยวในการเดินรถโดยสารประจำทาง เส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ จาก 2 เที่ยว/วัน เป็น 4 เที่ยว/วัน
ส่วนทางน้ำ ฝ่ายไทยเสนอให้กัมพูชาร่วมมือกับเวียดนามในการส่งเสริมการเดินเรือชายฝั่ง เพื่อขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว 3 ประเทศ ส่วนทางรางนั้น ไทย-กัมพูชา จะเร่งรัดการเปิดเดินรถไฟเชื่อม 2 ประเทศภายในปีนี้ โดยไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือกัมพูชาในการศึกษาสถานีเปลี่ยนหัวรถจักรบริเวณชายแดน