ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยมีมาตรการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคออกมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) ยังได้เห็นชอบยุทธศาสตร์โอทอปปี 2559 หรือที่เรียกว่า “โอทอป โรดแมป 2.0” ซึ่งมุ่งการยกระดับสินค้าโอทอป เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนฐานรากของประเทศ
การปรับยุทธศาสตร์สินค้าโอทอปในครั้งนี้ กอ.นตผ.ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ด้านส่งเสริมการตลาด ซึ่งแต่เดิมการดูแลสินค้าโอทอปอยู่ภายใต้หน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ แต่ได้มีการปรับภารกิจการงานใหม่ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการดูแลสินค้าโอทอปทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาตัวสินค้า และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้าโอทอปผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการตรวจสอบว่าในปัจจุบันมีผู้ผลิตสินค้าโอทอปเหลืออยู่เท่าใด โดยให้ทำการสำรวจจากกลุ่มเป้าหมาย OTOP Select ที่ผ่านการคัดเลือกด้านศักยภาพการตลาดมาแล้วจำนวน 2,749 ราย ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีดำเนินกิจการอยู่ 2,661 ราย และในจำนวนที่ดำเนินการอยู่ให้มีการจัดลำดับกลุ่มที่มีศักยภาพ 1-10 ว่ามีสินค้าอะไรบ้าง สรุปคัดออกมาได้รวม 798 ราย จากนั้น ได้ทำการคัดแยกเพื่อนำไปพัฒนาจำนวน 450 ราย
เมื่อได้จำนวนผู้ประกอบการโอทอปเป้าหมายแล้ว จะทำการยกระดับสินค้าโอทอป เริ่มจากการสร้างนักการตลาดชุมชน และ Smart Trader โดยจะประเมินศักยภาพของผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอทอป ทายาทธุรกิจ และเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะและสร้างความเป็นนักการตลาดที่สามารถวิเคราะห์ตลาด กำหนดแผนการตลาด วางกลยุทธ์ ปรับตัว เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและตอบสนองความต้องการ สร้างความพึ่งพอใจให้แก่ผู้บริโภค สร้างเครือข่ายร่วมกลุ่มด้านการตลาด คัดเลือกและพัฒนา Smart Trader ทำหน้าที่ด้านการตลาด การเข้าถึงคู่ค้า การสร้างรูปแบบธุรกิจ รวมทั้งการเจรจาต่อรอง การนำเสนอธุรกิจ เพื่อลดข้อจำกัดขีดความสามารถในการดำเนินงานทางการตลาดของผู้ผลิต ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเข้าคู่ค้า แหล่งจำหน่าย
ถัดมาจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยจะยึดหลักที่ว่าสินค้าโอทอปต้องมีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของจังหวัด มีดีไซน์ มี Cultural Essense สินค้า เช่น GI ใครไปใครมาต้องซื้อ ซึ่งสินค้าโอทอปก็เช่นเดียวกันจะต้องมีการใส่ Story ในตัวสินค้าที่จะบอกเล่าเรื่องราวของภูมิปัญญา ความเป็นชุมชน ความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ซื้อ
ทั้งนี้ เมื่อทำการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานให้กับผู้ผลิต และการสร้าง Story ให้กับสินค้าโอทอปแล้วจะเข้าสู่การพัฒนาขั้นต่อไป โดยจะทำการคัดเลือกให้เหลือผู้ประกอบการโอทอปที่มีความเข้มแข็งและมีขีดความสามารถในการพัฒนาต่อ เพื่อเปิดตัวออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เบื้องต้นในปี 2559 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 60 ราย จากที่ทำการพัฒนาทั้งหมด 450 ราย
สำหรับการดำเนินการขั้นต่อไปจะเป็นการกระจายแหล่งจำหน่ายและสร้างตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าโอทอป โดยเริ่มจากการจัดหาสถานที่จำหน่าย เพราะสินค้าโอทอปต้องมีที่ขาย และที่ขายที่ดีที่สุดก็คือ แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการพัฒนาให้ชุมชนที่ผลิตสินค้าโอทอปเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชื่อ “หมู่บ้านโอทอป” ให้ได้ และจะดำเนินการไปถึงการผลักดันให้มีตลาดกลาง ตลาดชุมชน Art & Craft Market ย่านชุมชน โดยจะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมการพัฒนาชุมชน ในการเตรียมสถานที่จำหน่ายสินค้าโอทอป โดยเน้นแหล่งท่องเที่ยวตามองค์ประกอบของแอ่งท่องเที่ยว ที่กำหนดโดย ททท.
นอกจากนี้จะเน้นการเชื่อมโยงกับ 12 เมืองต้องห้ามพลาด โดยนำเสนอสินค้าโอทอปที่ผลิตจากเมืองเหล่านี้ เพื่อเป็นของฝากให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวยัง 12 เมืองต้องห้ามพลาด ได้แก่ น่าน ลำปาง เพชรบูรณ์ เลย บุรีรัมย์ ราชบุรี สมุทรสงคราม ตราด จันทบุรี ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช รวมทั้งผลักดันให้สินค้าโอทอปเข้าไปวางจำหน่ายในโรงแรม รีสอร์ต ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายด้วย
ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการเปิดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้าโอทอปในปั๊ม ปตท. จำนวน 148 แห่ง ร่วมมือกับห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ในการเปิดพื้นที่ให้วางจำหน่ายสินค้าโอทอป และการจำหน่ายสินค้าโอทอปในร้านดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ได้จัดสรรพื้นที่ในท่าอากาศยานตั้งร้าน OTOP Store ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวม 100 ตารางเมตร มี King Power เป็นผู้บริหารจัดการ มีสินค้าจำหน่ายไม่น้อยกว่า 500 รายการ มียอดจำหน่ายตั้งแต่ปี 2557 เฉลี่ยเดือนละ 4 ล้านบาท และจะขยายไปยังสนามบินอื่นๆ เพิ่มเติม
สำหรับการเพิ่มช่องทางจำหน่ายอื่นๆ จะเน้นการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) เป็นตัวเปิดโอกาสให้กับสินค้าโอทอปออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพราะแหล่งผลิตสินค้าโอทอปกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ การจะซื้อสินค้าของผู้บริโภค บางครั้งต้องมาเจอกันในงานแสดงสินค้า ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการซื้อขาย แต่การใช้อี-คอมเมิร์ซ จะช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ และทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงการซื้อสินค้าโอทอปได้ทุกที่ ทุกเวลา
โดยตลาดภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะใช้ช่องทางผ่านเว็บไซต์ www.thaicommercestore.com โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการสินค้าโอทอปนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ เน้นการจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลัก แต่หากมีความเข้มแข็ง ก็จะผลักดันให้ไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีเว็บไซต์ www.thaitrade.com รองรับ และยังมีช่องทางจำหน่ายอื่นๆ อีก ได้แก่ การจำหน่ายผ่านทีวีไดเร็กต์ และจำหน่ายผ่านแค็ตตาล็อก เป็นต้น
แผนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าโอทอปทั้งหมดนี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เป็นไปตามแนวคิด “ประชารัฐ” ที่ชุมชนทำ รัฐชี้เป้า เอกชนช่วยกันขับเคลื่อน โดยใช้กลไกร่วมภาครัฐ-เอกชน-ชุมชน ที่หน่วงานภาครัฐตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย เกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ ท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม ต้องมาบูรณาการภารกิจร่วมกัน เพื่อให้สินค้าโอทอปไทยก้าวเข้าสู่การเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน