xs
xsm
sm
md
lg

กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือ ททท. ดันชุมชนผลิตสินค้า GI เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมถก ททท. ดันชุมชนเจ้าของ GI เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หวังช่วยเพิ่มยอดขายและโปรโมตพื้นที่ผลิตสินค้า สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ จะหารือร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในเดือน ม.ค. 2559 เพื่อร่วมกันทำแผนในการผลักดันชุมชนที่เป็นเจ้าของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการขายให้กับสินค้า GI ในจังหวัดต่างๆ และยังเป็นการสร้างการรับรู้ว่าจังหวัดนั้นๆ มีสินค้าดีอะไร เมื่อมาท่องเที่ยว ควรจะซื้ออะไรเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับไป

ทั้งนี้ การผลักดันชุมชนที่ผลิตสินค้า GI เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะนำร่องจากจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก่อนเพราะสามารถดำเนินการได้ทันที โดยกรมฯ ได้มีการขอข้อมูลจากพาณิชย์จังหวัด เพื่อรวบรวมว่ามีจังหวัดไหนบ้างที่เหมาะสม มีผู้ประกอบการกี่ราย ปริมาณผลผลิตสินค้า GI เท่าไร เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็จะทำการโปรโมตร่วมกับ ททท.ต่อไป

“พื้นที่ไหนที่เป็นแหล่งผลิตสินค้า GI ก็จะโปรโมตให้คนเข้าไปท่องเที่ยว ไปดูให้เห็นกับตาว่าสินค้า GI นั้นๆ มีขั้นตอนและวิธีการผลิตอย่างไร ชาวบ้านใส่ภูมิปัญญาอะไรเข้าไปบ้าง ซึ่งจะทำให้รู้ว่ากว่าจะได้สินค้า GI มา มันมีเรื่องราว ซื้อไปแล้วก็เกิดความภาคภูมิใจว่าได้สินค้าที่ดีของจังหวัดจริงๆ หรือหากเป็นสินค้า GI ที่เป็นพวกผลไม้ก็จะโปรโมตโดยให้ไปดูสวน ไปดูวิธีการดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว บางที่ก็จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเก็บกินในสวนได้เลย ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน” นางนันทวัลย์กล่าว

นางนันทวัลย์กล่าวว่า สำหรับการโปรโมตสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักในตลาดตลาดประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน กรมฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทำการส่งเสริมสินค้า GI โดยจะทำการจับคู่สินค้า GI ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น หมูย่างเมืองตรัง กับพริกไทยของกัมพูชา และกำลังจะหาสินค้า GI อื่นๆ เพื่อมาโปรโมตและทำตลาดร่วมกันต่อไป และยังจะผลักดันให้มีการจัดงานแสดงสินค้า GI ในระดับอาเซียน โดยนำสินค้า GI ของประเทศต่างๆ มาจัดแสดงร่วมกันด้วย

ส่วนตลาดต่างประเทศอื่นๆ กรมฯ มีแผนที่จะผลักดันให้นำสินค้า GI ไปจดทะเบียนให้ได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีการยื่นจดในสหภาพยุโรป (อียู) แล้ว 4 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และอีก 1 สินค้า คือ เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ยื่นจดที่ประเทศเวียดนาม โดยจะยื่นจดที่ประเทศจีนเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยาม มะขามหวานเพชรบูรณ์ เป็นต้น เพราะสินค้า GI เหล่านี้ ได้รับความนิยมและขายดีในจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น