“พาณิชย์” จับมือหอการค้าไทยสร้างผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน หวังตามเทรนด์ของโลกให้ทัน ตั้งเป้าปั้นให้ได้ปีละ 500 ราย
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงแนวทางการสร้างผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Entrepreneur : IDE) ว่า กรมฯ ได้ร่วมกับหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการคัดเลือกผู้ประกอบการ 500 รายที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมเพื่อนำมาฝึกอบรม และบ่มเพาะให้เป็นนักรบเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล โดยจะคัดเลือกจากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่กรมฯ ให้การสนับสนุน หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือเป็นนักวิจัยที่อยู่ในโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
“รัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยใช้นวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมฯ เร่งดำเนินการ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพได้แล้ว กรมฯ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะนำมาฝึกอบรม และบ่มเพาะให้ใช้นวัตกรรมในการผลิตสินค้า หรือสร้างรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) ใหม่ๆ เพราะโลกในอนาคตการจะทำธุรกิจแบบเดิมๆ หรือมีรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่น่าเพียงพออีกแล้ว โดยตั้งเป้าหมายว่าใน 3 ปีแรกจะสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่นี้ให้ได้ปีละ 500 ราย” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกอยู่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องผลิตสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรมให้มากขึ้น เพื่อทิ้งคู่แข่งและตามโลกให้ทัน เพราะหลายประเทศในโลกนี้หันมาใช้นวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้นแล้ว ซึ่งการเกิด IDE ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุน แต่ต้องมีความคิดก่อนว่าจะผลิตสินค้าอะไรหรือทำธุรกิจรูปแบบไหนที่ยังไม่เคยมีในโลกนี้ เมื่อได้ความคิดแล้วต้องหาแหล่งเงินทุน หานักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิจัยหาผลิตสินค้า จากนั้นก็นำสินค้าออกตลาด
“การผ่านกระบวนการเช่นนี้ทำให้ได้สินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด ส่งผลให้สินค้าขายดี และขายได้ทั่วโลก ต่างจากงานวิจัยของไทย ที่ปัจจุบันนักวิจัยมักสร้างงานวิจัยจากความต้องการของตัวเอง ไม่ได้คำนึงถึงตลาด เมื่อผลิตงานวิจัยได้แล้วก็มักจะขึ้นหิ้ง ไม่ได้นำมาผลิตเป็นสินค้าจริง โดยตัวอย่าง IDE ของไทยที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก เช่น เว็บไซต์หนังสือออนไลน์ OOKBEE เว็บไซต์ BUILK เว็บไซต์สำเร็จรูปเพื่อธุรกิจก่อสร้างที่มียอดขายทั่วโลก ส่วนของต่างประเทศ เช่น facebook.com, google.com, alibaba.com เป็นต้น” นางเสวณีย์กล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ร่วมกับหอการค้าไทย เปิดหลักสูตร “สถาบันวิทยาการนวัตกรรมผู้ประกอบการ” หรือ IDEA (Innovation Driven Entrepreneurship Academy) ที่เน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการ และพัฒนาผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้าง “นักรบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย” โดยเปิดรับผู้สนใจอายุ 25-42 ปี สมัครได้จนถึงวันที่ 15 ม.ค. 2559 เริ่มเรียนวันที่ 12 ก.พ.-10 มิ.ย. 2559