นักวิชาการเตือนผู้ประกอบการทำธุรกิจโปร่งใส แข่งขันเป็นธรรม ป้องกันผู้บริโภคเดือดร้อน ยกเคส “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” หลังถูกละเมิดเครื่องหมายการค้าบริการทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เตือนธุรกิจหากรู้ว่าถูกละเมิด ใช้กฎหมายจัดการได้เลย ทั้ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ร.บ.แข่งขัน ส่วนผู้บริโภคขอใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคได้
ผศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยในงานเสวนา “ปัญหาการลวงขาย การแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในกฎหมายเครื่องหมายการค้า” ที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ วันที่ 18 ธ.ค.ว่า ขณะนี้การทำธุรกิจในประเทศไทยมีการละเมิดเครื่องหมายการค้าเกิดขึ้นหลายกรณี และได้สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนที่เข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากความเข้าใจผิด ไม่เพียงแต่กระทบต่อธุรกิจที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อผู้บริโภคด้วย
ทั้งนี้ จากการติดตามการทำธุรกิจพบว่ามีกรณีที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างได้ คือ การทำธุรกิจบริการสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทุกประเภท ที่บริษัท เงินติดล้อ บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา เจ้าของเครื่องหมายการค้า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ถูกละเมิดเครื่องหมายบริการ โดยมีบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกัน คือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ มีการทำธุรกิจโดยเปิดสาขาใกล้กัน รูปแบบสำนักงาน สัญลักษณ์เครื่องหมายคล้ายคลึงกัน ทำให้เกิดความสับสน และเรื่องนี้ได้มีการฟ้องร้องจนศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ได้ตัดสินให้เงินติดล้อชนะคดีไปแล้ว ล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นฎีกา
“ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และการแสวงหาความสำเร็จของผู้อื่นโดยมิชอบ เพราะตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริง โดยคำว่า ศรีสวัสดิ์ จริงๆ ใครๆ ก็ใช้ได้ แต่ถ้าทำโดยมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้หลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ ถ้าเจตนาไม่บริสุทธิ์ ถือว่ามีความผิด เรื่องนี้ เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้มีการดำเนินการตามกฎหมายไปแล้วซึ่งถือว่ายังโชคดีที่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ ถ้าไม่มีการจด ก็ต้องไปฟ้องร้องเรื่องการลวงขาย หรือใช้ช่องกฎหมายทั่วไป เช่น การเลียนแบบชื่อทางการค้าของนิติบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยการฟ้องแพ่ง”
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องน่าเป็นห่วงกรณีของผู้บริโภค เพราะกฎหมายเครื่องหมายการค้า และการลวงขายไม่ครอบคลุมถึง โดยให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้ประกอบการ หากผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากความเข้าใจผิดแล้วหลงเข้าไปใช้บริการก็ควรจะได้รับการคุ้มครอง และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแล
ดร.ศิระณัฐ วิทยาธรรมธัช นิติกรปฏิบัติการ กองกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดเครื่องหมายการค้าแล้วไปสร้างผลกระทบให้กับผู้บริโภค กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาให้ความคุ้มครองเอาไว้ เพราะหากมีการใช้ข้อความหรือการโฆษณาที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาสามารถมีคำสั่งให้แก้ไขได้ และในส่วนผู้บริโภคหากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนโดยใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเข้าไปจัดการได้
นายศุภวัชร์ มาลานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การกระทำธุรกิจหากดำเนินการไม่โปร่งใส โดยเฉพาะกรณีการละเมิดเครื่องหมายการค้า หรือนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นไปใช้ ผิดกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ร.บ.เครื่องหมายทางการค้า พ.ร.บ.ความลับทางการค้า เพราะถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหาย และหากการทำธุรกิจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ก็ผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้วย
ดร.สุธาทิพ ยุทธโยธิน เลขานุการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง กล่าวว่า การประกอบธุรกิจที่มีการละเมิดเครื่องหมายการค้า ถือเป็นการลวงขาย เพราะการลวงขายไม่ต้องเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า แต่เป็นการเอาเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ถูกกระทำการละเมิด และยังกระทบต่อผู้บริโภคที่อาจไม่ได้รับสินค้าหรือบริการอย่างเป็นธรรม เพราะเกิดความเข้าใจผิดในการไปซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่ลวงขาย
ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่ดูแลกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จะต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และมีแนวทางในการช่วยเหลือผู้บริโภคจากกรณีการถูกลวงขาย ขณะที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าก็ต้องมีมาตรการดูแลในเรื่องนี้ เพราะเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และหากได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการ ควรจะมีการพิจารณาข้อร้องเรียนโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ