เสวนากฎหมายคืออะไร ในมุมมองนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา “นิธิ” บอกไทยกฎหมายพังสลายมานาน จี้ ตุลาการยึดหลักอย่าปฏิเสธอำนาจอธิปไตยประชาชน ละเมิดเสรีภาพมิได้ เชื่อ พ.ร.บ. กำลังสำรองเจอเลิกแน่ “เกษียร” ชี้ คสช. ชงข้อเสนอให้ทหารใช้กำลังโดยสุจริตไม่ต้องรับโทษ ไม่สอดคล้องความชอบธรรม “สมภาร” หนุนกฎหมายธรรมชาติสร้างจารีต “วรเจตน์” สวนกลับ บอกเข้ากับสังคมไทยอ้างความดี แต่ลดทอนเสรีภาพจนสนับสนุนรัฐประหารโดยไม่รู้ตัว
วันนี้ (22 พ.ย.) ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเวลา 13.00 น. จัดงานเสวนาหัวข้อ “กฎหมายคืออะไร ในมุมมองนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์, นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายสมภาร พรมทา อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
นายนิธิ กล่าวว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฐ ซึ่งคำสั่งที่จะถือเป็นกฎหมายได้นั้น ประกอบด้วย หลักการ 4 ข้อ คือ 1. ต้องมีการยินยอมพร้อมใจของผู้ที่ถูกกฎหมายบังคับใช้ คือ ประชาชน และต้องสอดคล้องกับค่านิยมที่คนในสังคมยึดถือ 2. ต้องกระชับและชัดเจน จะใช้วิจารณญาณส่วนตัวของผู้บังคับใช้น้อยที่สุด 3. ต้องถูกบังคับใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติ 4. ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม การพังสลายของกฎหมายในประเทศไทยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้การรัฐประหารในปัจจุบัน แต่มันสืบเนื่องมายาวนาน ยอมรับว่า คำพิพากษาที่เกี่ยวกับการรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นภาวะความจำยอม แต่ขอให้ตุลาการยึดถือหลักการว่า อย่าปฏิเสธอำนาจอธิปไตยของประชาชน จะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้ ถ้ายึดหลักการเช่นนี้แล้วการรัฐประหารจะไม่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้น ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ต้องผลักดันการปฏิรูปกฎหมาย ไม่ใช่แค่ตัวอักษร แต่ต้องคำนึงถึงองค์กรที่เกี่ยวข้อง ส่วนรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีฉบับไหนที่คนร่างคิดว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยาวนานได้ ยกเว้นฉบับปี 2540 ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้มาจากการใช้อำนาจล้วน ๆ แต่ประกอบด้วย อำนาจของสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย เช่น พ.ร.บ. กำลังสำรอง นายทุนจะยอมหรือที่ต้องจ่ายเงินเดือนเปล่าให้กับพนักงานที่ถูกเรียกเกณฑ์ จึงเชื่อว่ากฎหมายแบบนี้จะถูกยกเลิกในที่สุด
นายเกษียร กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐประกอบด้วยการใช้กำลังบังคับและการใช้ความยินยอมพร้อมใจ กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในการให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังบังคับของรัฐ ซึ่งจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากประชาชน ฐานความชอบธรรมของกฎหมายมีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. ชีวิตเป็นของตนเองในฐานะปัจเจกบุคคล รองรับสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนมีอยู่เหมือนกัน กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นเครื่องมือจำกัดควบคุมอำนาจไม่ให้มีการใช้อำนาจตามใจชอบ เป็นไปตามหลักนิติธรรมคือรัฐบาลมีอำนาจจำกัด ต้องมีเส้นแบ่งไม่ให้ล่วงละเมิดสิทธิพลเมือง นั่นคือรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มาจากผู้แทนราษฎรโดยชอบธรรม และคนคุมเส้นคือตุลาการที่เป็นอิสระ 2. ความสมเหตุสมผลของระบบกฎหมายในฐานะเครื่องมือการบริหารราชการแผ่นดิน จะต้องมีการบูรณาการที่กระจ่างชัดและไร้ช่องโหว่ในทางทฤษฎี
นายเกษียร กล่าวต่อไปว่า ในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีธรรมนูญการปกครอง มาตรา 17 เป็นการเอาอำนาจอาญาสิทธิมาทำเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งคล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ในปัจจุบัน เป็นรูปแบบของไทยจริง ๆ ที่เอาอำนาจอันสมบูรณ์ของบุคคลมาบรรจุในรัฐธรรมนูญ ให้นายกฯ สั่งการอะไรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมาตรา 44 ระบุชัดเจนกว่าในการครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ส่งผลให้กฎหมายเกิดความไม่แน่นอน เช่น กรณีแต่งตั้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่แล้วออกคำสั่งยกเลิกทีหลังภายใน 3 วัน การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งนายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา ยังคัดค้าน เพราะจะทำให้เกิดการทำตามใจชอบของเจ้าหน้าที่ เป็นการขัดหลักการจำกัดอำนาจรัฐ รวมไปถึงข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ข้อ 7 ที่ให้การใช้กำลังทหารโดยสุจริตไม่ต้องรับโทษนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักความชอบธรรมและความสมเหตุสมผลของกฎหมาย
ด้าน นายสมภาร กล่าวว่า มีแนวคิดทางกฎหมายอยู่ 2 สำนัก คือ 1. สำนักกฎหมายบ้านเมือง มองกฎหมายตามความเป็นจริง 2. สำนักกฎหมายธรรมชาติ มองกฎหมายตามศีลธรรม ส่วนตัวขอแนะนำคณะนิติศาสตร์ว่า ไม่ปฏิเสธอำนาจรัฐ แต่พิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ผู้มีอำนาจไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจ การสกัดกั้นการรัฐประหารต้องทำให้ได้ เพราะเป็นตัวทำให้การเมืองไม่ก้าวหน้า การเขียนกฎหมายอย่างเดียวอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ กฎหมายธรรมชาติแม้ไม่ชัดเจน แต่มีข้อดีคือสร้างจารีตทางกฎหมาย นิติศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องมีนักวิชาการที่เป็นหลักในทางสังคม ถ้าสามารถพัฒนาจารีตทางกฎหมายแนวธรรมชาติได้ เราจะมีผู้พิพากษาที่คุ้นเคยกับจารีตธรรมชาติ ต่อไปเมื่อคณะรัฐประหารลงจากอำนาจ ก็เป็นไปได้ที่เราจะเห็นการตัดสินที่ไม่เหมือนทุกวันนี้
ส่วน นายวรเจตน์ กล่าวว่า กฎหมายคือกฎเกณฑ์ หรือบรรทัดฐานอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นการทั่วไป มีกระบวนการบังคับที่เป็นกิจจะลักษณะ รักษาสันติสุขของสังคม ในรัฐสมัยใหม่ กฎหมายมีภารกิจปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ สิ่งแวดล้อม หากกฎหมายขัดแย้งศีลธรรม ไม่ยุติธรรม จะถือเป็นกฎหมายหรือไม่ สำนักกฎหมายบ้านเมืองมองว่าแม้กฎหมายจะเลวแค่ไหนก็เป็นกฎหมาย เพราะมองในทางรูปแบบ ตรงกันข้ามสำนักกฎหมายธรรมชาติมองว่าต้องดูในทางเนื้อหา ถ้าขัดศีลธรรมก็สูญเสียความเป็นกฎหมาย
นายวรเจตน์ กล่าวต่อไปว่า การจะเป็นกฎหมายหรือไม่นั้น สำคัญตอนจัดการกับระบอบเผด็จการที่ล่มไปแล้ว ในสมัยนาซีเยอรมัน ทหารที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่อนุญาตให้ฆ่าคนได้ จะมีความผิดฐานฆ่าคนหรือไม่นั้น ต่อมาศาลตัดสินลงโทษด้วยการปฏิเสธความเป็นกฎหมายดังกล่าว เพราะถือว่ายกถึงระดับความอยุติธรรมที่ไม่สามารถทนทานและยอมรับได้ ตามแนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติ ส่วนสำนักกฎหมายบ้านเมืองเห็นว่า ความอยุติธรรมที่ไม่สามารถทนทานและยอมรับได้นั้นขอบเขตไม่ชัดเจน จึงแนะนำให้ออกกฎหมายไปกำหนดโทษย้อนหลัง ในส่วนของประเทศไทย การยึดอำนาจผิดเป็นกบฎ แต่ศาลระบุว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์เมื่อทำสำเร็จแล้ว หากมีข้อเสนอล้มล้างรัฐประหาร จะถือเป็นการลงโทษย้อนหลังหรือไม่ แต่ความจริงการลงโทษถูกเบรกไว้ เพราะมีการนิรโทษกรรม ถ้าเอาเบรกออกได้ ก็ไม่ถือเป็นการลงโทษย้อนหลัง ซึ่งวิธีนี้ไม่เคยเข้าสู่กฎหมายในทางปฏิบัติของประเทศไทย ดังนั้น แนวคิดทั้ง 2 สำนัก ไม่ต่างกันมากอย่างที่คิด เมื่อเปลี่ยนระบอบใหม่สามารถจัดการได้ตามความยุติธรรมของรัฐใหม่ วิธีคิดแบบสำนักกฎหมายธรรมชาติเข้ากับสังคมไทยในเรื่องคนดีมีคุณธรรม แต่ลดทอนเรื่องสิทธิเสรีภาพลง จนเป็นการสนับสนุนการรัฐประหารโดยไม่รู้ตัว โดยอ้างว่าทำไปเพื่อความถูกต้องดีงาม ซึ่งคุณค่ามันมีประโยชน์จริง ๆ แต่ในสังคมไทยต้องระมัดระวังเพราะหลายอย่างถูกแปลง เนติบริกรก็เป็นแบบไทย ๆ ได้อำนาจได้ประโยชน์ก็อยู่ตรงนั้น