xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาตัดสิน 1 ธ.ค.นี้ คดีแย่งแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หลังมีความขัดแย้งกันมายาวนาน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจจนทำให้ผู้ถือหุ้นของ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ต้องแยกออกเป็น 2 บริษัท แต่ยังคงดำเนินธุรกิจรวมทั้งใช้ชื่อ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” อันเป็นแบรนด์เนมทางการค้าที่เป็นที่รู้จักกันดีในตลาดเงินกู้รายย่อยทั้งคู่ ทำให้มีการฟ้องร้องกันขึ้น โดยวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ศาลฎีกาจะมีคำตัดสินในกรณีดังกล่าว

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด หรือในชื่อเดิม คือ บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด เจ้าของแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยถึงความคืบหน้าของคดีที่บริษัทถูกเลียนเครื่องหมายบริการและใช้รูปรอยประดิษฐ์ในการค้าจนก่อให้เกิดความสับสนของประชาชนที่ใช้บริการว่า ในวันอังคารที่ 1 ธันวาคมนี้ ศาลฎีกาจะมีการพิพากษาในกรณีดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเนื่องจากที่ผ่านมาจำเลยหรือบริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ ได้นำเครื่องหมาย “ศรีสวัสดิ์” รวมถึงชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบธุรกิจของเงินติดล้อมาใช้หรือทำให้ปรากฏบนแผ่นป้ายหรือสิ่งอื่นๆ ในการประกอบการค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นกิจการของเงินติดล้อ

“ตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญา พฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายทำให้เกิดความสับสนของผู้บริโภค อาจถือได้ว่าเป็นการลวงขาย สร้างความเสียหายอย่างมากแก่ลูกค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ ทราบเป็นอย่างดีว่าทางเงินติดล้อใช้เครื่องหมาย “ศรีสวัสดิ์” อยู่ แต่ก็ยังนำเครื่องหมายมาใช้ในการประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่ากิจการของศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์เป็นกิจการของเงินติดล้อจริง” นายปิยะศักดิ์กล่าว

นายปิยะศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า พฤติกรรมดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับลูกค้าและผู้สนใจจะใช้บริการ เนื่องจากเกิความสับสนว่าศรีสวัสดิ์เงินติดล้อเป็นของใครกันแน่ และมีผู้ใช้บริการเข้าใจผิดหลายรายไปใช้บริการกับอีกบริษัทหนึ่งแล้วถูกพฤติกรรมทวงหนี้ที่เกินขอบเขตของกฎหมาย บางรายก็ถูกยึดทรัพย์แบบไม่มีผ่อนปรน ทั้งที่ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเครื่องมือทำมาหากิน เช่น รถที่ใช้ในการเกษตร หรือจักรยานยนต์สำหรับผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง หลายครั้งมีการร้องเรียนมายังผู้บริหารของบริษัท แต่เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วพบว่า ไม่ใช่ลูกค้าของบริษัท แต่ไปใช้บริการอีกบริษัทหนึ่งด้วยความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” เป็นบริษัทภายใต้การกำกับของหน่วยงานรัฐ มีมาตรฐานการติดตามหนี้ระดับสากล จะไม่มีพฤติกรรมที่เสียหายดังกล่าว ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ามีความสับสนระหว่างศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ กับศรีสวัสดิ์พาวเวอร์อยู่มาก ผู้ต้องการใช้บริการกับ “ศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ” ต้องระมัดระวังและตรวจสอบให้ดีก่อนใช้บริการ

ทั้งนี้ ธุรกิจสินเชื่อของศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2550 เมื่อเอไอจี (AIG) เข้ามาร่วมทุน จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด และสร้างเครื่องหมายการค้า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ ต่อมาวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯ ทำให้เอไอจีต้องขายทรัพย์สินนี้ออกไป ทาง บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มี จีอี แคปปิตอล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้นได้เข้ามาซื้อหุ้นทั้งหมด รวมถึงได้กรรมสิทธิ์ในสาขาและเครื่องหมายบริการที่มีอยู่ด้วย ขณะที่ผู้ถือหุ้นเดิมได้ออกมาตั้งบริษัท พีวีแอนด์เคเคเซอร์วิส 2008 จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด ทำธุรกิจแบบเดิมขึ้นมาแข่ง รวมทั้งยังคงใช้ “ศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ” ในการทำการตลาดด้วย จนทำให้เกิดการฟ้องร้องดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น