xs
xsm
sm
md
lg

แอลพีจีตลาดโลกขยับ ลุ้น กบง. 3 ธ.ค.เคาะตรึงราคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตา กบง. 3 ธ.ค.ขึ้นราคาขายปลีกแอลพีจีเดือนธันวาคมหรือไม่ หลัง รมว.พลังงานยังไม่ฟันธงแต่แย้มอาจใช้เงินกองทุนฯ ที่มีอยู่ช่วย เหตุราคาตลาดโลกขยับสูงขึ้น และสั่งการหาพื้นที่ใหม่ก่อสร้างกระทรวงแทนการเช่าตึกเอนโก้

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ราคาก๊าซหุงต้มตลาดโลก (ราคาซีพี) ล่าสุดยังคงขยับขึ้นสูงกว่าเดือนที่แล้วประมาณ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นผลจากฤดูกาลที่หนาวเย็นขึ้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่จะประชุมในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ จะพิจารณาราคาแอลพีจีขายปลีกเดือนธันวาคมคงต้องรอว่าจะเห็นอย่างไร ควรจะตรึงราคาต่อไปเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน หรือจะขยับขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุน หากตรึงต่อก็สามารถใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับแอลพีจีมาอุดหนุนต่อไป

ทั้งนี้ หาก กบง.เห็นชอบตรึงราคาเดือนธันวาคมก็จะเป็นการตรึงราคาต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองนับจากเดือนพฤศจิกายน ที่ กบง.มีมติคงราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีไว้ที่ 22.29 บาทต่อกิโลกรัม โดยงวดเดือน พ.ย. กบง.ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับแอลพีจีมาอุดหนุน ตรึงราคา ทำให้กองทุนเข้ามาอุดหนุน 0.6130 บาท/กก. จากเดิมเก็บเข้า 0.0827 บาท/กก. ทำให้กองทุนไหลออก 305 ล้านบาทต่อเดือน จากปัจจุบันเงินกองทุนมีประมาณ 8,000 ล้านบาท

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รมว.พลังงานให้นโยบายไปจัดหาพื้นที่ก่อสร้างกระทรวงพลังงาน จากที่ปัจจุบันเช่าพื้นที่อาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ (เอนโก้) บริษัทในเครือ กลุ่ม ปตท.เป็นวงเงิน 102 ล้านบาท/ปี ซึ่งในขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะซื้อพื้นที่ได้จุดใด โดยต้องการใกล้พื้นที่เดิม อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยเจรจาจะเช่าพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แต่ ร.ฟ.ท.ปฏิเสธ เพราะต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่สร้างรายได้ในอนาคต

นายประพนธ์กล่าวด้วยว่า จากการลงไปดูพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ที่เอกชนยังไม่ลงทุนก่อสร้างได้ตามกำหนดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) ที่มีไว้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ต้องส่งเข้าระบบ (ซีโอดี) ในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา มีทั้งหมด 220 เมกะวัตต์ จำนวน 70 ราย พบว่ามีประมาณ 100 เมกะวัตต์ จำนวน 32 ราย เป็นทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ในส่วนนี้ยังไม่มีการลงทุนที่ชัดเจน ดังนั้นจึงส่งเรื่องให้ กฟภ.ไปพิจารณาว่าอุปสรรคที่แท้จริงคืออะไร หากเกิดความไม่ตั้งใจจริงของเอกชนก็ต้องยกเลิกสัญญาไป แต่หากเกิดจากปัญหาภาครัฐ เช่น ปัญหา รง.4 (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) หรือพื้นที่ผังเมือง ในส่วนนี้ก็อาจไม่ยกเลิก ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายโครงการ โดย รมว.พลังงานได้ให้นโยบายว่าจะต้องชัดเจนภายในสิ้นปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น