“กบง.” นัดถกวันนี้ เตรียมพิจารณาราคาขายปลีกแอลพีจีเดือน พ.ย. 58 คาดขยับขึ้นตามต้นทุนตลาดโลกและค่าบาทแข็งขึ้น 0.67 บาทต่อ กก. หรือ 10 บาทต่อถัง 15 กก. โดยส่วนหนึ่งลดเงินกองทุนฯ อุ้มด้วย พร้อมพิจารณาปิดโครงการบัตรเครดิตพลังงานเอ็นจีวีตามที่จะสิ้นสุด 31 ธ.ค.นี้
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เปิดเผยว่า การประชุม กบง. ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธาน วันนี้ (4 พ.ย.) จะมีการพิจารณาเพื่อประกาศราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เดือน พ.ย. 58 เพื่อให้สะท้อนราคาตลาดโลก ซึ่งพบว่าแอลพีจีตลาดโลก (CP) พ.ย.ปรับขึ้น 50 เหรียญสหรัฐต่อตันมาอยู่ที่ 411 เหรียญต่อตัน อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 35.8 บาทต่อเหรียญ และต้นทุนจากแหล่งผลิตและจัดหาเพิ่มขึ้น 0.69 บาทต่อกิโลกรัม จึงเสนอให้ลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแอลพีจีจาก 0.0827 บาทต่อ กก. เป็น 0.013 บาทต่อ กก. เพื่อทำให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นเพียง0.67 บาทต่อ กก. หรือ 10 บาทต่อถัง 15 กก.
“เพื่อให้ราคาขายปลีกคำนวณง่ายขึ้นจึงมีการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของแอลพีจีมาดูแลเล็กน้อย ซึ่งทำให้ราคาแอลพีจี พ.ย. อยู่ที่ 22.96 บาทต่อ กก. จากเดือน ต.ค. อยู่ที่ 22.29 บาทต่อ กก. โดยจะมีผลตั้งแต่ 5 พ.ย.เป็นต้นไป และจะทำให้กองทุนฯ มีรายจ่าย 80 ล้านบาทต่อเดือน” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับการคำนวณต้นทุนแอลพีจีดังกล่าวยังเป็นไปตามมติ กบง.เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 58 ที่ให้มีการทบทวนราคาต้นทุนจากแหล่งผลิตและแหล่งจัดหาทุกๆ 3 เดือน โดยพบว่า ต้นทุนจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติลดลง 0.2152 บาท/กก. จาก 15.97 บาท/กก. เป็น 15.76 บาท/กก. ราคาแอลพีจีที่ผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติก (CP) ลบ 20 เหรียญสหรัฐต่อตันแอลพีจีจากการนำเข้า เป็นราคาตลาดโลก (CP) บวก 85 เหรียญสหรัฐต่อตัน ฯลฯ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังจะพิจารณาการปิดโครงการบัตรเครดิตพลังงานก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือเอ็นจีวี ตามระยะเวลาเดิมที่จะสิ้นสุดโครงการฯ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยไม่ต่ออายุ เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือลดภาระจากการที่รัฐขึ้นราคาเอ็นจีวีให้กับรถรับจ้างขนส่งสาธารณะเมื่อ 3 พ.ย. 54 และต่อมาก็มีการปรับเงื่อนไขโครงการบัตรเครดิตพลังงาน โดยเพิ่มวงเงินในการเติมเอ็นจีวีในราคาส่วนลดจากเดือนละไม่เกิน 6,000 บาท/คน เป็นไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท/คน โดยมีวงเงินเครดิต 3,000 บาท/บัตร
“ปัจจุบันมีผู้ใช้บัตรเครดิตพลังงานเอ็นจีวี 68,612 ราย พบว่าส่วนใหญ่กลับใช้เพื่อรับสิทธิส่วนลดราคาก๊าซฯ และจ่ายเป็นเงินสดแทนที่จะเป็นสินเชื่อ จึงเห็นว่าโครงการนี้สามารถปิดได้เพราะมีโครงการบัตรเติมก๊าซรับสิทธิส่วนลดราคาเอ็นจีวีสำหรับรถโดยสารสาธารณะอยู่แล้ว ดังนั้นจึงจะเสนอให้ขยายมาตรการการให้ส่วนลดราคาก๊าซ NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะออกไปอีก 1 ปี หรือตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2559” แหล่งข่าวกล่าว