“สมคิด” โรดโชว์ญี่ปุ่นประเทศแรกสำเร็จเกินคาด นักลงทุนยักษ์ใหญ่ตอบรับเพิ่มการลงทุนในไทยตามนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ เผยจ่อลงทุนผลิตยางเครื่องบิน หุ่นยนต์ รวมถึงขยายการลงทุนอุตสากรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมที่ลงทุนอยู่แล้ว ย้ำรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ตั้งบริษัทร่วมทุนต้นปีหน้า ระบุญี่ปุ่นชวนไทยเข้าร่วม TPP ด้วย รับจำเป็นต้องเข้า แต่ขอศึกษารายละเอียดให้ชัดก่อน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการจัดทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกว่า เป็นการออกไปสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจในนโยบายของรัฐบาล และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังไทย หลังจากที่ช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ เป็นการแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจนขณะนี้ได้ฟื้นตัวดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่น ทั้งของผู้บริโภคและนักลงทุนดีขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ก็ขยายตัวดีขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 2.9% ซึ่งถือว่าน่าพอใจ จึงถึงเวลาที่จะออกไปสร้างความเชื่อมั่นในต่างประเทศ และได้เลือกญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก เพราะลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้พบปะหารือกับนักลงทุนญี่ปุ่นได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงนโยบายเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะนโยบายอุตสาหกรรมใหม่ (S-Carve) ที่มุ่งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยรัฐบาลพร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการดึงดูดการลงทุนซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนมายังไทย ยกตัวอย่าง เช่น บริดจสโตน ผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก มีแผนการลงทุน 3 ปีข้างหน้าที่จะผลิตยางล้อเครื่องบินในไทย และบริษัทที่ลงทุนผลิตตลับลูกปืนในไทยอยู่แล้ว สนใจจะมาลงทุนผลิตหุ่นยนต์ในไทย ขณะที่อุตสาหกรรมที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว ทั้งยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ตอบรับที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติม
“ไม่เห็นมีสักบริษัทที่ไม่มั่นใจเมืองไทย ทุกบริษัทมีโครงการลงทุนทั้งสิ้น ซึ่งได้ย้ำไปว่าให้รีบมาลงทุน ถ้ามาตั้งแต่ปีหน้าจะได้สิทธิพิเศษมากมาย ยิ่งช้า สิทธิพิเศษยิ่งลด จึงอยากจะใช้โอกาสนี้ฝากถึงภาคเอกชนไทย นักลงทุนไทย ที่ยังหวั่นใจ จะต้องเลิกคิด และเพิ่มการลงทุนได้แล้ว เพราะขนาดญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นรัฐบาลไทย และคิดตลอดว่าจะลงทุนอะไรเพิ่ม” นายสมคิดกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการหารือครั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นไม่ได้สนใจในเรื่องการเมืองของไทย แต่ได้ฝากในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการดึงดูดการลงทุน นักลงทุนไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อย หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอนาคต
นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับการหารือกับนายทาโร อะโซ รองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ชี้แจงแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ การขอให้สนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นไปลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และยังได้หารือถึงความคืบหน้าการลงทุนโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งรมว.คมนาคมได้มีการหารือร่วมกับญี่ปุ่นแล้ว โดยล่าสุดจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นในต้นปีหน้าเพื่อเดินหน้าโครงการ
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้ชักชวนไทยให้เข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เพราะจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ซึ่งได้แจ้งว่าไทยเองก็สนใจ และขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างศึกษาผลดีผลเสีย และหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะขณะนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก หากไทยไม่เข้าร่วมจะทำให้ตามโลกไม่ทัน และเสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนามที่เข้าเป็นสมาชิก TPP แต่ไทยไม่เข้า จึงไม่อยากให้อ้อยเข้าปากช้าง
ส่วนวันที่ 27 พ.ย. 2558 มีกำหนดการที่จะเข้าพบหารือกันนายชินโซ อาเบะ นายารัฐมนตรีญี่ปุ่น และจะมีการร่วมหารือคณะผู้แทนระดับสูงของไทยและญี่ปุ่น ถือเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นยอมหารือในลักษณะนี้ เพราะที่ผ่านมาจะเป็นการหารือในระดับกระทรวงต่อกระทรวงเท่านั้น โดยฝ่ายไทยจะมีรัฐมนตรีจากทีมเศรษฐกิจเข้าร่วม ฝ่ายญี่ปุ่นจะมีรัฐมนตรีที่ดูแลเศรษฐกิจ คมนาคม ต่างประเทศ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับรมว.เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน (เมติ) ของญี่ปุ่น ว่าได้ลงนามในบันทึกความตั้งใจ (เอ็มโอไอ) ในการพัฒนาบุคลากรของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นแรงงานฝีมือ ตามที่ผู้นำของ 2 ประเทศได้หารือมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์คงต้องหารือกับประเทศเพื่อนบ้านว่าต้องการให้ช่วยพัฒนาบุคลากรวิชาชีพใด และต้องทำงานร่วมกับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย รวมถึงสถาบันการศึกษาของไทย ในการกำหนดหลักสูตรพัฒนาแรงงานให้ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป