xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ทบทวนบัญชีแนบท้าย ปลด 4 ธุรกิจไม่ต้องขออนุญาตจากบอร์ดต่างด้าว คาดมีผลปลายปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” คาดร่างกฎกระทรวงปลด 4 ธุรกิจไม่ต้องขออนุญาตทำธุรกิจจากบอร์ดต่างด้าว มีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ ทั้งแบงก์ สำนักงานธนาคาร ประกันชีวิต และวินาศภัย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ เหตุมีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่แล้ว ส่วนเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาไฟเขียวลงทุนเพิ่มอีก 27 ราย มีเงินลงทุนกว่าพันล้าน จ้างงาน 287 คน

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ... สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนธนาคาร ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ได้ผ่านการอนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปลายปีนี้

“การทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีแนบท้ายกฎหมายดังกล่าว เป็นการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการค้า การลงทุน และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ จะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการค้าการลงทุนในธุรกิจภาคบริการและลดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแล เพราะธุรกิจที่กำหนดให้ไม่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอีก เพราะมีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่แล้ว การให้ขออนุญาตจะเป็นการซ้ำซ้อนและมีขั้นตอนยุ่งยาก”

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า สำหรับในเดือน ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 27 ราย มีการนำเงินเข้ามาลงทุนในการประกอบธุรกิจจำนวน 1,189 ล้านบาท และมีการจ้างงานคนไทยจำนวน 287 คน และช่วง 10 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) ได้อนุญาตรวม 336 ราย ลดลง 5% มีเงินลงทุน 13,009 ล้านบาท ลดลง 78% เพราะในช่วงเดียวกันของปี 2557 มีธุรกิจธนาคารพาณิชย์และบริการการเงินที่ใช้เงินลงทุนสูง

สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในเดือน ต.ค. ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จำนวน 13 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 1,044 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการ บริการด้านการตลาด ให้กู้ยืมเงิน และให้เช่าพื้นที่อาคาร โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

2. ธุรกิจสำนักงานภูมิภาค/ผู้แทน จำนวน 10 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 30 ล้านบาท เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนให้สำนักงานใหญ่ และเป็นการให้คำแนะนำ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของสำนักงานใหญ่และบริษัทในเครือ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

3. ธุรกิจที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ จำนวน 3 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 76 ล้านบาท ได้แก่ บริการจัดหา ก่อสร้าง และติดตั้งสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้แก่ กฟผ. บริการเป็นที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้แก่ รฟม. และบริการออกแบบ และติดตั้งระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (ระบบตั๋วร่วม) ให้แก่ สนข. โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย

4. ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 39 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องมือวิเคราะห์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์


กำลังโหลดความคิดเห็น