สนข.เตรียมจ้างที่ปรึกษาออกแบบก่อสร้างเชื่อมทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ กับดอนเมืองโทลล์เวย์ ลดปัญหาจราจรบนพื้นราบ วางแนวจากบางซื่อ-ประชาชื่น-รัชวิภา พร้อมวิเคราะห์ข้อกฎหมายเลือกผู้ลงทุนระหว่าง BECL กับโทลล์เวย์ เผยตั้งงบ 59 จำนวน 30 ล้านบาท เป้าหมายเชื่อมทางด่วนหลัก 2 สาย แนวออก-ตก และเหนือ-ใต้ ของกรุงเทพฯ
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างเตรียมการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาออกแบบรายละเอียด และวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องในการต่อโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร กับโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เพื่อเชื่อมโยงระบบทางด่วน 2 สายเข้าด้วยกันให้เป็นโครงข่าย จากบริเวณบางซื่อ-ประชาชื่น-รัชวิภา เพื่อลดปริมาณจราจรบนพื้นราบ โดย สนข.ได้จัดสรรงบประมาณปี 2559 จำนวน 30 ล้านบาทไว้ดำเนินการ
ทั้งนี้ นอกจากออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างแล้ว ที่ปรึกษาจะต้องวิเคราะห์ความเหมาะสมและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยว่า ผู้ลงทุน และบริหารโครงการส่วนเชื่อมต่อดังกล่าวควรเป็นเอกชนรายใด เนื่องจากโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ของกรมทางหลวง (ทล.) นั้น มีบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เป็นผู้ได้รับสัมปทานโครงการ ส่วนโครงการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL เป็นผู้รับสัมปทาน ซี่งแต่ละสัญญามีข้อกฎหมาย และระยะเวลาของสัมปทานไม่เท่ากัน
“กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข.เป็นหน่วยงานกลางศึกษาเรื่องนี้ ขณะที่เอกชนทั้ง 2 รายเคยมาเสนอให้กระทรวงคมนาคมช่วยพิจารณา โดยมีเป้าหมายเหมือนกันคือ เพื่อเชื่อมต่อระบบให้เป็นโครงข่ายลดการจราจรบนพื้นราบ เพราทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ จะเป็นแนวตะวันออก-ตะวันตก ส่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ จะเป็นแนวเหนือ-ใต้ จุดเชื่อมดังกล่าวจะลิงก์ทั้ง 2 โครงการพอดี ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาจราจรที่ตรงจุด และคุ้มค่าแน่นอน และทำให้ประชาชนมีความสะดวก” นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ กทพ.ทำสัญญาสัมปทานกับ BECL อายุสัญญา 30 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2555-14 ธ.ค.2585 ส่วนสัมปทานโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ระหว่างกรมทางหลวง กับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จะสิ้นสุดในปี 2577