ผู้จัดการรายวัน 360 - ศูนย์เภสัชกรรมชั้นนำ “ฟาร์แมกซ์” ชี้ทิศทางธุรกิจร้านขายยาหลังเปิดเออีซี ผู้เล่นรายเล็กที่ไม่ได้มาตรฐานอาจต้องปิดตัวหลายราย พร้อมมีเชนต่างประเทศรายใหม่ชิงตลาดแทน เตรียมแผนรับมือด้วยงบฯ กว่า 60 ล้านบาท ขยาย 11 สาขา ในปี 58 ก่อนเพิ่มเป็น 20 สาขา ใน 3 ปี พร้อมใช้งบฯ 10 ล้านบาท พัฒนาระบบไอทีเชื่อมโยงการให้บริการ และฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 5 พันราย
เภสัชกรธัชพล ชลวัฒนสกุล กรรมการบริหาร บริษัท ฟาร์แมกซ์ รีเทล จำกัด ผู้บริหารศูนย์เภสัชกรรมชั้นนำ “ฟาร์แมกซ์” (PHARMAX) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเพื่อต้องการให้เป็นศูนย์การค้าปลีกราคาส่งยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพรูปแบบใหม่ตามเกณฑ์มาตรฐาน GPP (Good Pharmacy Practice) หรือวิธีการที่ดีทางเภสัชกรรม ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งยังได้รับการรับรองให้เป็นร้านยาคุณภาพด้วยมาตรฐานระดับสากล 5 ประการ จากสภาเภสัชกรรม โดยมีสินค้าครบทุกรายการในราคาย่อมเยา ทั้งยาแผนปัจจุบัน, ยาแผนโบราณ, สมุนไพร, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ รวมเป็นจำนวนกว่า 5 พันรายการ
ตลาดยาในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 136,800 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงพยาบาลและคลินิก 107,600 ล้านบาท และร้านขายยา (ไม่รวมเวชภัณฑ์ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ) 29,200 ล้านบาท โดยส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการเชนร้านขายยารายใหญ่ทั้งใน และต่างประเทศ เช่น บูทส์, วัตสัน, เซฟ ดรัก ฯลฯ โดยในส่วนของ “ฟาร์แมกซ์” มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15-20% ต่อปี
เภสัชกรธัชพล กล่าวด้วยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของร้านค้าปลีกยาในช่วงปี 2559-2561 หลังจากเปิดเออีซีแล้วคาดว่าจะถูกควบคุมมาตรฐานการบริการมากยิ่งขึ้น จนส่งผลกระทบต่อร้านขายยาขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่มีเภสัชกรประจำร้าน เพราะมีข้อบังคับทางกฎหมายให้ร้านขายยาจ่ายยาโดยเภสัชกรเท่านั้น จึงเชื่อว่าจะมีเชนยาขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐาน และมีเงินทุนจำนวนมากจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศออสเตรเลีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น
“เชนยาจากต่างประเทศไม่ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของ “ฟาร์แมกซ์” เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะร้านบิวตี้ที่เน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ อาหารเสริม และความงาม ในขณะที่ยาเป็นเพียงบูทขนาดเล็กภายในร้านเท่านั้น”
เภสัชกรธัชพล กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ใช้งบประมาณลงทุนกว่า 10 ล้านบาทในการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีภายใน ทั้งในส่วนของการจัดซื้อ การบริหารคลังสินค้า รวมถึงระบบขนส่ง และระบบการคัดเลือกสินค้าโดยทีมเภสัชกรเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพบริการให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นสมาชิกกว่า 5 พันราย โดยมีศูนย์กลางที่เป็นร้านแฟล็กชิปสโตร์ที่ ถ.ประดิษฐ์มนูธรรม เลียบทางด่วนรามอินทรา-เอกมัย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับสาขาต่างๆ ได้แก่ สาขาจัตุรัสจามจุรี, สาขาเพียวเพลส รามคำแหง, สาขานวลจันทร์, สาขาดิ อเวนิว ถ.แจ้งวัฒนะ สาขาเดอะแจ๊ส วังหิน สาขาเดอะแจ๊ส รามอินทรา และสาขาเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ถ.พระราม 9
“บริษัทฯ มีแผนใช้เงินลงทุนกว่า 60 ล้านบาทในการขยายสาขาครบ 11 แห่ง ภายในปี 2558 โดยเน้นพื้นที่คอมมูนิตีมอลล์ใกล้ชุมชน โครงการบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม ก่อนเพิ่มเป็น 20 สาขาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใน 3 ปี จากนั้นจึงจะขยายสาขาไปยังหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศภายใน 5 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มจากพัทยา และชลบุรีเป็นลำดับแรก”
ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นผู้ลงทุนขยายสาขาเองทั้งหมดประมาณสาขาละ 5-10 ล้านบาท พร้อมกำหนดระยะเวลาคืนทุนแต่ละสาขาภายใน 2-3 ปี บนพื้นที่ 100-150 ตารางเมตรขึ้นไป โดยเน้นการจัด และตกแต่งร้านให้มีลักษณะเป็นซูเปอร์มาร์เกตเพื่อให้สอดรับต่อพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เป็นกลุ่มคนเมือง และต้องการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีความน่าเชื่อถือ โดยเน้นจุดเด่นด้านมาตรฐานการให้บริการที่มีเภสัชกร 2 ท่านประจำร้านตลอดเวลาการดำเนินงาน และมีการควบคุมอุณหภูมิของยาเพื่อป้องกันการเสื่อมคุณภาพ โดยจำหน่ายในราคาต่ำกว่าร้านขายยาทั่วไปประมาณ 5-10%
เภสัชกรธัชพล กล่าวในตอนท้ายว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี ในการดำเนินงานของ “ฟาร์แมกซ์” ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) ในการประชาสัมพันธ์และระดมทุนสนับสนุนโครงการ “ตู้ยาเพื่อน้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีตู้รับบริจาคร่วมสมทบทุนเพื่อซื้อตู้ยาที่ ศูนย์เภสัชกรรม “ฟาร์แมกซ์” ทุกสาขา