xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป” เร่งงานวิจัย ผลิตยา-อาหารเสริมจากทูน่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
ASTVผู้จัดการรายวัน - “ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป” รีแบรนด์บริษัทในเครือทั่วโลกภายในปี 58 เผยความสำเร็จ “ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน Gii” ศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่อง วางแผนเปิดตลาด “ไส้กรอกปลาไขมันต่ำ” ในปี 59 ก่อนศึกษาตลาด “เจลาตินจากหนังปลา” พร้อมต่อยอดระดับผลิตภัณฑ์เป็น “ยาและอาหารเสริมจากทูน่า” หลังผลศึกษาพบช่วยเพิ่มมูลค่าสูงถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อ 1 กก.

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF และบริษัทในเครือทั่วโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯ ถือเป็นผู้ผลิตทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีโรงงานทั่วโลกคิดเป็น 1 ใน 4 ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของโลก ด้วยยอดขายกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ได้เริ่มรีแบรนด์บริษัททั่วโลกเป็น “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” มาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 58 เพื่อสะท้อนภาพธุรกิจให้ชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2558 จะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทั่วโลก

เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีของการดำเนินงานในปี 2560 บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลกภายใต้พันธกิจ 3 ด้าน คือ การพัฒนาบุคลากร (People) การพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก (Innovation) และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยคำนึงถึงทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ตลอดจนชุมชนและสังคม

นายธีรพงศ์กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องของนวัตกรรมมากซึ่งถือว่าสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างและโดดเด่นจากคู่ค้าในตลาดโลกเพื่อก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก จึงได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน Gii เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ด้าน ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน Gii (Global Innovation Incubator) ประกอบด้วย 6 ฐานปฏิบัติการ ได้แก่ การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของปลาทูน่า, การศึกษาปลาทูน่าเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพและอนามัย การศึกษาเทคโนโลยีการแปรรูปใหม่สำหรับการผลิตปลาทูน่า, การศึกษาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลพลอยได้จากการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า, การศึกษาคุณสมบัติทางด้านประสาทสัมผัสและความต้องการของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า และการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าตามความต้องการของตลาด
“ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ” ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
เป้าหมายสำคัญของศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน Gii คือ การสร้างมูลค่ารายได้รวม (Revenue from Innovation of Total Revenue) เพิ่มขึ้น 10% พร้อมมีกำไรเบื้องต้น (Gross Profit : GP) 25% และให้อัตราผลตอบแทนของโครงการ (Internal Rate of Return : IRR) 35% พร้อมกับเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีมากกว่า 50 ชนิดทั่วโลก โดยล่าสุดได้วิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงรสชาติและรายละเอียดต่างๆ คือ “ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกปลาไขมันต่ำ” ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำตลาดในประเทศไทยก่อนเป็นแห่งแรกประมาณปี 2559

ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน Gii ยังมีการศึกษาและวิจัยพบว่ามูลค่าผลพลอยได้จากการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ามีสูงถึง 6 ระดับคือ Trash Fish ให้มูลค่า 0.2 เหรียญสหรัฐต่อ 1 กิโลกรัม Fish Meat ให้มูลค่า 0.7-2 เหรียญสหรัฐต่อ 1 กิโลกรัม Animal Feed ให้มูลค่า 0.6-6 เหรียญสหรัฐต่อ 1 กิโลกรัม Pet Nutrition ให้มูลค่า 2-10 เหรียญสหรัฐต่อ 1 กิโลกรัม Human Nutrition ให้มูลค่า 6-20 เหรียญสหรัฐต่อ 1 กิโลกรัม และ Pharma ให้มูลค่าสูง 100 เหรียญสหรัฐต่อ 1 กิโลกรัม

“ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับ Pet Nutriton โดยมีเป้าหมายยกระดับขึ้นเป็น Human Nutrition ภายใน 2 ปีครึ่งก่อนที่จะถึงระดับ Pharma ซึ่งหากพัฒนาสำเร็จจะถือเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมรายแรกของโลก โดยในปัจจุบันยังมีการเร่งพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่เหลือใช้ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 38-40% เช่น พุงปลา, หัวปลา, ก้างปลา และหนังปลาให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยขณะนี้มีแนวโน้มที่จะผลิตเจลาตินจากหนังปลาในอนาคตอันใกล้”

ดร.ธัญญวัฒน์กล่าวด้วยว่า ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน Gii ยังมีการศึกษาและวิจัยการพัฒนาเครื่องจักรใหม่ๆ ที่ใช้ในการแปรรูปปลาทูน่าเพื่อหมุนเวียนแรงงานในภาคการผลิตไปยังภาคอื่นๆ เป็นการทดแทน โดยปัจจุบันร่วมกับผู้ผลิตเครื่องจักรจากประเทศเยอรมนีในการทดลองประสิทธิภาพเครื่องหั่นปลาซึ่งสามารถทำได้นาทีละ 25 ตัว จากเดิมที่ใช้แรงงานคนตัวละประมาณ 5 นาที นอกจากนั้นยังมีเครื่องละลายปลาซึ่งสามารถลดอุณหภูมิปลาแช่แข็งจาก -22 องศาเซลเซียสเหลือเพียง -3 องศาเซลเซียสภายในเวลา 1 นาที ทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในการละลายปลาได้มากถึง 80% ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

อนึ่ง ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน Gii ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นเวลา 5 ปี ปัจจุบันมีพื้นที่ 1.2 พันตารางเมตร ภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการลงทุนด้านเครื่องมือต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 200 ล้านบาท ปัจจุบันมีนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอื่นๆ ประมาณ 80 รายจาก 15 มหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยปัจจุบันสามารถจดทะเบียนสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์แล้ว 2 รายการ
บางส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋องกว่า 50 ชนิด


กำลังโหลดความคิดเห็น