xs
xsm
sm
md
lg

“เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” จ่อลงทุนเพิ่มเวียดนาม-อินโดฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” จ่อรุกธุรกิจเฟล็กซิเบิล แพกเกจจิ้งในอินโดนีเซีย และเวียดนามเพิ่ม เล็งซื้อกิจการและขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมในพื้นที่เดิม คาดว่าเวียดนามจะมีความชัดเจนในปีหน้า ส่วนโรงงานในไทยอยู่ระหว่างการขยายกำลังผลิตคาดเสร็จสิ้นปีนี้ เผยปีนี้ยอดขายเอสซีจี แพคเกจจิ้งกว่า 6 หมื่นล้านบาท คาดปี 59 โต 10%

นายธนวงศ์ อารีย์รัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ในเครือซิเมนต์ไทย เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะเฟล็กซิเบิล แพกเกจจิ้ง (Flexible Packaging) เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการโตอย่างมีศักยภาพ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิตเพิ่มในโรงงานเดิมที่เวียดนาม หรืออาจจะซื้อกิจการ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า รวมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการในประเทศอินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้คงต้องคำนึงถึงปัจจัยการอ่อนค่าลงของรูเปียห์ด้วย

ส่วนในไทยเอง ทางพรีแพคฯ ที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 72% ก็มีการขยายกำลังการผลิตเฟล็กซิเบิล แพกเกจจิ้งเพิ่มเติมอีก 2,000 ตันต่อปี จากเดิม 1.4 หมื่นตัน/ปี ที่โรงงานใหม่ในจังหวัดสมุทรสาคร คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตได้ในไตรมาสที่ 4/2558 ทำให้บริษัทรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอีกปีละ 300-400 ล้านบาท จากปัจจุบันมียอดขายประมาณ 1.6 พันล้านบาท ใกล้เคียงโรงงานผลิตเฟล็กซิเบิล แพกเกจจิ้งในเวียดนาม

สำหรับแหล่งเงินที่ใช้ในการขยายธุรกิจนั้น บริษัทฯ ได้วางงบในการลงทุนเฉลี่ยปีละ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบลงทุนประจำปีในการซ่อมบำรุงโรงงานต่างๆ รวมทั้งกันไว้เป็นงบสำหรับการซื้อกิจการ (M&A) ด้วย โดยปีนี้มีการซื้อกิจการโรงงานผลิตเฟล็กซิเบิล แพกเกจจิ้งที่เวียดนาม ใช้เงินลงทุน 1.5 พันล้านบาท หากมีโครงการที่ดีก็พร้อมที่จะใส่เงินลงทุนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์ในอาเซียนมีมูลค่าตลาดประมาณ 8 พันล้านบาท และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวียดนามที่ตลาดบรรจุภัณฑ์มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 4-5% เทียบกับตลาดในไทยที่มีการโตเพียง 3% ส่วนอินโดนีเซียก็เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ มีโรงงานผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์อยู่ในอินโดนีเซียแล้ว จึงอยู่ระหว่างการเจรจาที่จะซื้อกิจการบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมที่นั่นด้วย

สินค้าเฟล็กซิเบิล แพกเกจจิ้ง ใช้บรรจุสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เช่น ห่อผ้าอ้อมสำเร็จรูป หรือบรรจุภัณฑ์แบบเติม (Refill Packaging) เป็นต้น มีอัตราความต้องการใช้เติบโตสูงมากกว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นๆ โดยใช้วัตถุดิบหลักในการผลิต คือ LLDPE, LDPE และไนลอน

ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงงานผลิตเฟล็กซิเบิล แพกเกจจิ้งอยู่ 4 โรงงานใน 2 ประเทศ คือ ไทย และเวียดนาม คิดเป็นกำลังการผลิตรวมกว่า 520 ล้านตารางเมตรต่อปี โดยล่าสุดบริษัทได้มีการซื้อกิจการโรงงาน BATICO ซึ่งเป็นผู้ผลิตเฟล็กซิเบิล แพกเกจจิ้งรายใหญ่ 1 ใน 5 ของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 80% มีกำลังการผลิตกว่า 230 ล้านตารางเมตร/ปี

นายธนวงศ์กล่าวว่า เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ได้ปรับเปลี่ยนชื่อมาจากเอสซีจี เปเปอร์ ได้เพียง 5 เดือน ทั้งนี้เพื่อสะท้อนถึงกลยุทธ์ของธุรกิจที่จะมุ่งเน้นด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการใหม่แก่ลูกค้าอย่างครบวงจร โดยรวมไปถึงการพัฒนาสินค้าเฟล็กซิเบิล แพกเกจจิ้งที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ผลิตจากกระดาษ เนื่องจากบริษัทเพิ่งรีแบรนดิ้งได้ไม่นาน ดังนั้นจึงยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายการโตที่ชัดเจน แต่คาดว่าปีนี้น่าจะมียอดขายกว่า 6 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ของเครือซิเมนต์ไทย และปีหน้าคาดว่าจะมียอดขายและกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) โตเฉลี่ย 10% จากปีนี้

สำหรับงบการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ในปีนี้วางไว้ที่ 400 ล้านบาท คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 1% ของยอดขายรวม หรือประมาณ 400-600 ล้านบาท งสอดคล้องกับนโยบายของเครือฯ ที่มุ่งเน้นด้าน R&D

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดตัวงาน “SCG Innovative Exposition 2115” ที่จัดขึ้นตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ SCG Experience (เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา) เพื่อแสดงนวัตกรรมหลากหลายหวังยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัย (SCG Eldercare Solution) เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ในปี 2567 ภายในงานจะมีนวัตกรรมต่างๆ ที่เพื่อตอบโจทย์ให้แก่ทุกคนในครอบครัว
กำลังโหลดความคิดเห็น