xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์” ขอแก้ไข ไม่แก้ตัว หลังธนาคารโลกลดความง่ายในการทำธุรกิจของไทยจากลำดับ 46 เป็น 49

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สุวิทย์” โพสต์เฟซ ขอแก้ไข ไม่แก้ตัว หลังธนาคารโลกลดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจในไทยจาก 46 เป็น 49 ระบุรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการแก้ปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจ และยังได้เดินหน้าลดขั้นตอนการจดทะเบียน ลดการระบุจำนวนสาขาที่เพิ่มและลด และดูแลธรรมภิบาลธุรกิจตั้งใหม่ที่ทุนเกิน 5 ล้านบาท มั่นใจช่วยผลักดันให้ลำดับของไทยดีขึ้นในอนาคต

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงกรณีธนาคารโลก (World Bank) ได้ประกาศลำดับของความยากง่ายในการทำธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ของไทย โดยลดลำดับลงจาก 46 เป็น 49 ว่า บางคนบอกว่าตัวเลขนี้จะมีผลต่อความน่าสนใจในการลงทุนในประเทศไทย ถ้าจะแก้ตัว ผมจะเรียนว่า อย่างไรเสีย เราก็ยังติด 1ใน 50 ประเทศแรก (จากทั้งหมด 189 ประเทศ) อยู่ดี ถ้าจะแก้ตัวต่อไปอีก ผมก็จะเรียนว่า ตัวเลขดังกล่าว World Bank สำรวจมาจากบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย 50 ราย ถามเจาะจงเฉพาะความยากง่ายในการทำธุรกิจของ SME (ไม่ได้ครอบคลุมรายใหญ่) แถมจำกัดอยู่ในอาณาบริเวณกรุงเทพมหานครเท่านั้น

พูดง่ายๆ ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่สะท้อนความน่าสนใจในการลงทุนของประเทศในภาพรวม แต่รัฐบาลชุดนี้จะขอ “แก้ไข” ไม่ “แก้ตัว”

ส่วนอันดับที่ลดลงอาจไม่ได้หมายถึงการทำธุรกิจในไทยยากขึ้น แต่อันดับเราลดลงอาจเป็นเพราะประเทศอื่นปฏิรูปได้เร็วกว่าเรา

นายสุวิทย์ ระบุอีกว่า ด้วยความไม่นิ่งนอนใจ ในเดือนแรกของการทำงานของทีมเศรษฐกิจท่านรองนายกฯ สมคิด ก็ได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับผม ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในนาม กกร. ทั้งสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาตลาดทุน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ ฯลฯ อย่างใกล้ชิด ในการแก้ไขปัญหา และขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่จะทำให้ภาคเอกชนนั้นได้รับความสะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ต่ำ หรือที่เรียกง่ายๆ คือ Ease of Doing Business

ที่ผ่านมา มีการประชุมแล้ว 3 ครั้ง 2 ครั้งที่กระทรวงการคลัง และอีก 1 ครั้งที่กระทรวงพาณิชย์ ผลการประชุมมีความคืบหน้าจนเป็นที่น่าพอใจของภาคเอกชน และจะดำเนินการต่อไป

ในส่วนของการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง หลังจากรับทราบปัญหาก็ได้มีการปรับปรุงกระบวนงานขนานใหญ่ เพื่อให้ตอบโจทย์ภาคเอกชน สาระสำคัญมีดังต่อไปนี้

1.ลดความยุ่งยากในการยื่นคำขอจดทะเบียนธุรกิจ นับจากนี้ไปหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการตามอำนาจของบริษัทที่ไม่สะดวกเดินทางมาลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เพิ่มทางเลือกใหม่ ให้สามารถลงลายมือชื่อต่อหน้าบุคคลที่เป็น 1) ผู้ทำบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน 2) กรรมการของหอการค้า (สภาหอการค้าฯ หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด หอการค้าต่างประเทศ) 3) กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 4) กรรมการสภาวิชาชีพบัญชี การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้มีบุคคลที่เป็นผู้รับรองลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียนได้ถึง 196,923 ราย!! (เดิมมีผู้รับรองลายมือชื่อ 139,39 ราย) เพิ่มขึ้นอีก 57,524 ราย

2.อำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนธุรกิจ จากเดิมการจดทะเบียน เพิ่ม/ลดสาขา ของห้างหุ้นส่วน และบริษัทที่มีสาขาหลายสาขา จะต้องระบุมาให้ครบทุกสาขา หากมีสาขา ถึง 100 สาขา ก็ต้องระบุทั้ง 100 สาขา คนทำเอกสารตาลายกันเลยทีเดียว ความใหม่ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าสร้างสรรค์ในครั้งนี้ คือ การกำหนดให้ระบุเฉพาะสาขาที่เพิ่มขึ้นใหม่ หรือยกเลิกเท่านั้น สะดวกขึ้นอีกเยอะครับสำหรับการจดทะเบียน แถมลดต้นทุนของกระดาษ รักษาต้นไม้ไว้ช่วยลดโลกร้อนได้อีกต่อหนึ่ง

3.สร้างธรรมาภิบาลในธุรกิจที่มีทุนสูง ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยกำหนดให้ธุรกิจตั้งใหม่ หรือธุรกิจที่ต้องการจะเพิ่มทุน หากมีทุนที่จะจัดตั้ง หรือทุนที่จะเพิ่มเกิน 5 ล้านบาท ต้องแสดงหลักฐานทางการเงินเพื่อให้ผู้ทำธุรกรรมกับบริษัทสามารถตรวจเช็กการชำระเงินลงทุนจริง เพิ่มความมั่นใจ และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ แถมเป็นตัวช่วยแก่ผู้ร่วมลงทุนในการตัดสินใจ และช่วยให้ธนาคารตัดสินใจปล่อยกู้แก่บริษัทได้รวดเร็วขึ้นด้วย

นายสุวิทย์ ระบุในตอนท้ายว่า การปรับปรุงระบบงานจดทะเบียนในครั้งนี้จะช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับความสะดวกเพิ่มมากขึ้น และเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยอยู่ในประเทศลำดับต้นๆ ของ Ease of Doing Business!


กำลังโหลดความคิดเห็น