xs
xsm
sm
md
lg

ททท.แจงกลยุทธ์ในประเทศปี 59 มุ่งกระจายรายได้ท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ผู้ว่าฯ ททท.เผยกลยุทธ์ตลาดในประเทศปี 59 สร้างรายได้ 8.7 แสนล้านบาทจาก 3 โครงการรับนโยบาย “วันธรรมดาน่าเที่ยว” กระจายรายได้สู่เมืองท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ หลังโครงการ “12 เมืองต้องห้าม...พลาด” ได้ผลเกินคาด สร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ถึง 20% มั่นใจรายได้ในประเทศทะลุ 1 ล้านล้านบาทในปี 2561

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปี 2559 ททท.มีกลยุทธ์หลักในการทำตลาดท่องเที่ยวในประเทศ โดยมุ่งเน้นการกระตุ้นรายได้ทางด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับความเข้มแข็งของชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวน 150.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4% พร้อมรายได้ 8.6-8.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2561

นโยบายสำคัญในการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศคือโครงการ “วันธรรมดาน่าเที่ยว” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12-15 พ.ค. 59 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อนำเสนอแพกเกจการท่องเที่ยวที่คุ้มค่าในราคาพิเศษ โดยรวมผู้ประกอบการโรงแรม สปา แห่งท่องเที่ยว ผู้ให้บริการกิจกรรมต่างๆ เช่น รถเช่า บริษัททัวร์ สินค้าและบริการต่างๆ มารวมไว้ในงานเดียวกว่า 250 ราย ตั้งเป้าหมายรายได้ 120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2558 พร้อมมีผู้ร่วมงานไม่น้อยกว่า 2.6 แสนคน

ภายใต้โครงการ “วันธรรมดาท่องเที่ยว” ททท.จะนำเสนอมิติทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการ “เมืองต้องห้ามพลาด...PLUS” 2. โครงการ “เขาเล่าว่า...” และ 3. โครงการ “Outdoor Fest” โดยมีเป้าหมายในการสร้างความสมดุลของการท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดาให้มีความคึกคักขึ้น พร้อมทั้งกระจายรายได้ไปยังเมืองท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ หรือเมืองรอง พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ รวม 36 แห่ง

สำหรับโครงการ “เมืองต้องห้ามพลาด...PLUS” เป็นโครงการต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการ “12 เมืองต้องห้าม...พลาด” ซึ่งสามารถทำให้เกิดการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 20% ครอบคลุมทั้งด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวและภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร สายการบิน ตลอดจนรถโดยสารขนส่ง และอื่นๆ

โครงการ “เมืองต้องห้ามพลาด...PLUS” จะเป็นการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียง 12 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง, ลำพูน, น่าน, แพร่, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก, เลย, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, สมุทรสงคราม, นครปฐม, จันทบุรี, สระแก้ว, ตราด, ระยอง, ชุมพร, ระนอง, ตรัง, สตูล, นครศรีธรรมราช และพัทลุง

ส่วนโครงการ “เขาเล่าว่า...” เป็นโครงการที่นำเรื่องราวพื้นบ้าน หรือเรื่องเล่าในชุมชนมาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว ทั้งในด้านแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม เรื่องราว เรื่องเล่า ความเชื่อและตำนานความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งสิ้น 28 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นการสร้างการรับรู้เรื่องราววิถีไทยที่น่าสนใจ เพื่อให้ได้สัมผัสกับความเชื่อ ความศรัทธา ความสามัคคีที่ชุมชนมีต่อสถานที่ต่างๆ เป็นการตอกย้ำความหมายที่มากกว่าของการเที่ยวที่ไม่ใช่แค่การไปพบกับความสวยงาม แต่สามารถสร้างคุณค่าทางจิตใจและเสริมกำลังใจให้แก่ผู้คนได้เป็นอย่างดี

“โครงการ เขาเล่าว่า...ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในปี 2559 ต่อเนื่องจากโครงการ Dream Destinations เพื่อสร้างกระแสให้คนไทยเที่ยวในประเทศ กระตุ้นให้คนอยากเดินทางท่องเที่ยวสักครั้งในชีวิต โดยรูปแบบการนำเสนอในโครงการนี้จะเป็นการเก็บเกี่ยวตำนานเรื่องเล่าจากทั่วเมืองไทยมาเปิดประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยว” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ขณะที่โครงการ “Outdoor Fest” ถือเป็นงานแสดงสินค้าทางด้านการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่จะจัดขึ้นพร้อมกับงาน “วันธรรมดาน่าเที่ยว” โดยนำเสนอกิจกรรมทางการท่องเที่ยวกลางแจ้ง เช่น ขี่จักรยาน, ดำน้ำ, ตีกอล์ฟ, ปีนเขา, เดินป่า, ดูนก เป็นต้น โดยยังจะมีการนำเสนอนวัตกรรมท่องเที่ยวต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่นการจัดแข่งขันไตรกีฬาและกีฬาเอ็กซ์ตรีม ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวที่กำลังได้รับกระแสนิยมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง

นายยุทธศักดิ์กล่าวด้วยว่า ททท.ยังมีนโยบายที่จะกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วยการนำเสนอแนวคิด “Thailand Check Point” โดยจะมอบรางวัลเงินสด หรือแพกเกจท่องเที่ยวต่างๆ ให้ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวที่มีจำนวนท่องเที่ยวภายในระยะเวลาที่กำหนด 3 เดือน หรือ 6 เดือน โดยจะเน้น 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ 1. กลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Y) 2. กลุ่มผู้หญิง (Lady) 3. กลุ่มครอบครัวที่ไม่มีบุตรและนิยมเดินทางท่องเที่ยวเป็นคู่ (DINKS) และ 4. กลุ่มคุณภาพสูงและผู้สูงวัย

อนึ่ง โครงการ “เขาเล่าว่า...” ในพื้นที่ 24 แห่ง ประกอบด้วย 1. สะพานอธิษฐานสำเร็จ : สะพานซูตองเป้ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 2. ประตูรักแห่งขุนเขา : ประตูผาบ่อง ดอยผาตั้ง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย 3.เมืองที่ห้ามพูดโกหก : เมืองลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ 4. พระยาช้างชนะศึก : กู่ช้าง กู่ม้า อ.เมือง จ.ลำพูน

5.หลวงพ่อสด วัดจันทรังสี อ.เมือง จ.อ่างทอง 6. พระพุทธเจ้าองค์ใหญ่ วัดม่วง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง 7. พระนอน วัดขุนอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง 8. เขาหนุมานวัดใจ : เขาวงพระจันทร์ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 9. พระพิฆเนศองค์นอน วัดสมานรัตนาราม อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 10. พระพิฆเนศองค์ยืน อุทยานพระพิฆเนศคลองเขื่อน อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา 11. พระพิฆเนศองค์นั่ง วัดโพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา 12. พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ วัดทิพย์สุคนธาราม อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี

13. หินชมนภา : หาดชมดาว อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี 14. มหายุทธแดนอีสาน : พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก อ.เมือง จ.ยโสธร 15. ถ้ำพญานาค : ศาลพญานาค สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 อ.เมือง จ.มุกดาหาร 16. วิมานเทวดา : ภูทอก อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ 17. ผ้าผิวสวย : ผ้าย้อมคราม จ.สกลนคร และ จ.อุดรธานี 18. แห่นาคโหด : บ้านโนนเสลา อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

19. เกาะแห่งรัก : สะพานอัษฎางค์ และช่องอิศริยาภรณ์ (ช่องเขาขาด) เกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี 20. สะดือมังกร : หาดเตยงาม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 21. ป่าสีทอง : ทุ่งโปรงทอง ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง 22. มหัศจรรย์ทรายดำ : ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหาดทรายดำและป่าชายเลน อ.แหลมงอบ จ.ตราด

23. สันหลังมังกร : หาดสันหลังมังกร อ.เมือง จ.สตูล 24. อุโมงค์แสงมรกต : ลานแสงมรกต ถ้ำภูผาเพชร อ.มะนัง จ.สตูล 25. พระแอด-ปวดหาย : พระกัจจายนะ (พระแอด) วัดพระมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 26. น้ำตาศักดิ์สิทธิ์ : เขาหงอนนาค อ.เมือง จ.กระบี่ 27. สะพานแห่งความสุข : สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อ.ควนขนุน จ.พัทลุง 28. ไอ้ไข่ขอได้ : ไอ้ไข่วัดเจดีย์ อ.สิชล จ. นครศรีธรรมราช



กำลังโหลดความคิดเห็น