xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวยุคใหม่ชูมนต์เสน่ห์ชุมชนดูด “ต่างชาติ-คนไทย” เที่ยวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ททท.แสดงความพร้อมในการผลักดัน “ท่องเที่ยว” เป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศ หยิบจุดเด่นที่คนทั่วโลกรู้จักมาสร้างเป็นจุดขาย นำร่องด้วยการจัดเคานต์ดาวน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และจัดแข่งกีฬา หรืออาหารที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์แบบไทย พร้อมปัดฝุ่น “อีลิทการ์ด” ดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงมาเที่ยวในเมืองไทย แจงปี 58 รายได้ท่องเที่ยวพลาดเป้า เพราะคนไทยนิยมเที่ยวต่างประเทศ ชี้ปี 59 ปรับกลยุทธ์รุกหนัก ดึงคนไทยเที่ยวไทยในทุกฤดูกาล เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ศึกใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2559 ซึ่งคาดการณ์กันว่ารายได้จากภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก เช่น ภาคการส่งออก ภาคการเกษตร ชะลอ และแผนรับมือเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงกำหนดนโยบายให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งการสานต่อภารกิจการสร้างรายได้ท่องเที่ยวให้แทนที่รายได้หลักอื่นๆ ครั้งนี้นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะมีมรสุมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

เริ่มตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งหลายประเทศมองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการให้ประชาชนของประเทศตัวเองเข้ามาท่องเที่ยว จึงออกประกาศเตือนคนในชาติให้ระมัดระวัง ซึ่งถึงแม้วันนี้กระแสดังกล่าวเบาบางไปแล้วก็ตาม แต่กลับมีวิกฤตอื่นเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะวิกฤตมาตรฐานการบินไทย ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์การบินของไทย ทั้ง 2 เหตุการณ์

ล่าสุดสำนักบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ลดเกรดสายการบินของประเทศไทย จากระดับ 1 เป็นระดับ 2 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นการตอกย้ำ สถานการณ์ครั้งแรก เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศให้ธงแดงประเทศไทยไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการบิน

ตามด้วยหน่วยต่อต้านข่าวกรองของรัสเซีย หรือเอฟเอสบี ประสานผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แจ้งเตือนกลุ่มไอซิส เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลออกมาแก้เกมเร่งด่วน โดยโฟกัสด้านการรักษาความปลอดภัยในสถานที่ท่องเที่ยว และในต่างจังหวัด เมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่าชาติ เช่น ภูเก็ต สุราษฎร์ฯ เชียงใหม่ เชียงราย พัทยา เป็นต้น

แต่ด้วยประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม มีอาหาร และศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์หรือจุดขายที่คนทั่วโลกต้องการมาเที่ยวประเทศไทย ดังนั้นในท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ก็เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเช่นกัน

รัฐพลิกวิกฤตสร้างรายได้ท่องเที่ยว

โดยเฉพาะท่ามกลางไฮซีซันที่เงินกำลังสะพัดในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในขณะนี้ เราจึงเห็นภาพการแข่งขันของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า แหล่งบันเทิง ต่างแข่งขันกันอัดแคมเปญโปรโมชันกวาดรายได้โค้งสุดท้ายของปี ขณะที่ ททท.วางแผนจัดอีเวนต์เคานต์ดาวน์ปีใหม่ ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวนำร่องการท่องเที่ยวในปี 2559 ซึ่งเป็นอีกไฮไลต์เคานต์ดาวน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยๆ โดยจะมีกิจกรรมการแสดงที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่วันที่ 28-31 ธ.ค.ที่จะถึงนี้
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ซึ่งการจัดงานเคานต์ดาวน์ในบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ส่งผลทำให้โรงแรมระดับ 5 ดาวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับอานิสงส์จากงานนี้ อีกทั้งยังเป็นอีกทางเลือกของเคานต์ดาวน์ จากที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติให้ความสำคัญรวมตัวกันเคานต์ดาวน์ที่ย่านราชประสงค์ติดต่อกันมาหลายปี อย่างไรก็ตาม อานิสงส์ที่ได้จากช่วงการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีนี้ ททท.ตั้งเป้าหมายไว้ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20% และสร้างรายได้เติบโต 13% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 1.05 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม 2 บิ๊กกุมบังเหียนงานท่องเที่ยวไทย ทั้งนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ออกมาแสดงความวิตกในเรื่องมาตรฐานการบินของประเทศไทยว่า เรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบการท่องเที่ยวในระยะ 2-3 เดือนนี้

แต่ในระยะยาวหากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข อาจกลายเป็นวิกฤตสร้างความเสียหายหลายอย่าง ทั้งส่งผลกระทบต่อเส้นทางการบินในทวีปอื่นๆ เช่นในยุโรป รวมถึงต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ส่วนการฝ่าปัญหาและอุปสรรคของปี 2559 นั้น ททท.จะให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศ และต่างประเทศควบคู่กันไป

ตั้งเป้าดึงญี่ปุ่นและจีนท่องเที่ยวในไทย

ทั้งนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ นับว่ามีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมาก เพราะเป็นตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขล่าสุด ที่เปิดเผยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวตั้งแต่ ม.ค.ถึงต้นเดือน ธ.ค.มีจำนวน 27.11 ล้านคน คาดการณ์ว่าทั้งปี 2558 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทย 30 ล้านคน เรียกได้ว่าทำสถิติสูงสุด และทะลุจากเป้าหมายที่วางไว้ 28.8 ล้านคน

ซึ่งในปี 2559 ททท.ตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน 12 ล้านคน และจากประเทศญี่ปุ่น 1.7 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งการจะก้าวไปสู่เป้าหมาย ที่รัฐบาลเริ่มเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม และมีความชัดเจนนั้น ประกอบไปด้วย การรุกตลาดออนไลน์ โดยเชิญ 600 บล็อกเกอร์ทั่วโลก จาก 20 ประเทศ ให้มาเที่ยวไทย ซึ่งจะมีการต่อยอดไปสู่การรีวิวเที่ยวเมืองไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ในสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย
 อีลิทการ์ด
รวมถึงการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง โดยปัดฝุ่น อีลิทการ์ด ซึ่งเป็นเครื่องมือส่งเสริมการท่องเที่ยวจับตลาดหรู มีการตั้งตัวแทนขายทั่วโลก อีกทั้งยังมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะบริการพิเศษที่หรูหรา เช่น ไพรเวตเจ็ต และเรือยอชต์ พร้อมรับบริการเข้าพักโรงแรมระดับ 5-6 ดาว พร้อมปรับวิธีการสื่อสารกับลูกค้า ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที) ที่เป็นเครื่องมือ การขาย พร้อมอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมาจากทั่วโลกได้ 24 ชั่วโมง

อีกทั้งนโยบายกระตุ้นนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้มีรายได้ 8 หมื่นล้าน ในปี 2559 และให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 1.3 ล้านคน ให้ได้ 2 ล้านคนภายในปี 2563 หรือให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางออกนอกประเทศ

โดยมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับฝ่ายญี่ปุ่น 3 ฉบับ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นเข้าไทย โดยใช้กิจกรรมส่งเสริมใน 3 ด้าน คือ การโปรโมตด้านอาหาร กีฬา และสุขภาพ ซึ่งจะเป็นกิจกรรมเพื่อเข้าถึงคนญี่ปุ่น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่เดินทางมาท่องเที่ยวแล้วเดินทางมาซ้ำ คิดเป็นร้อยละ 80 ของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นทั้งหมด

ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและนักกีฬา กลุ่มกีฬากอล์ฟ และกลุ่มนักวิ่งมาราธอน จะเป็นนักท่องเที่ยว กลุ่มที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งแรก มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนกลุ่มนักกอล์ฟจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้าไปเล่นกอล์ฟในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 1.6 แสนคน เพิ่มให้เป็น 2 แสนคน

ในส่วนนโยบายกระตุ้นนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นอีกตลาดที่มีสัดส่วนตลาดที่ใหญ่ และมีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวของไทย จะเน้นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยเพิ่มการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือ CCTV ในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย รวมถึงกลยุทธ์จัดโรดโชว์ร่วมออกงาน เพื่อสื่อสารให้นักท่องเที่ยวจีนรู้จักประเทศไทยในมุมของการบริการด้านโรงแรมที่พัก แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ที่ครอบคลุมเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนักกอล์ฟ กลุ่มฮันนีมูน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว

ยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคุณภาพจากประเทศจีน เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้นซึ่งคาดว่าจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เดินทางเข้าไทย มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น โดยจากตัวเลขในปี 2557 มีจำนวนกว่า 4.63 ล้านคน ส่วนในปีนี้ ททท.คาดการณ์ว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาไทยจะเพิ่มขึ้นกว่า 7 ล้านคน

ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากนักท่องเที่ยวตลาดหลัก ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ท่องเที่ยวของไทยนั้น ททท.ยังมีแผนการเปิดตลาดใหม่ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพนักท่องเที่ยวขยายตัวดี โดย ททท.มีแผนที่จะเปิดสำนักงานในต่างประเทศเพิ่มอีก 5 แห่งให้ได้ในปี 2561 ได้แก่ แคนาดา ตุรกี แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา และเมืองวลาดิวอสต็อก เมืองใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของรัสเซีย ครอบคลุมภูมิภาคยุโรปอเมริกาใต้ และแอฟริกา

กระตุ้นคนไทยเที่ยวไทย

นอกจากนี้ตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศก็ถือเป็นตลาดที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมาการเติบโตด้านท่องเที่ยวของตลาดในประเทศไม่สูงมาก โดยในปี 2558 ตลาดกลุ่มนี้มีสัดส่วนที่น้อยกว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2559 ททท.ตั้งเป้าหารายได้จากตลาดนี้เพิ่มขึ้น 8.04% คิดเป็นเม็ดเงิน 807,000 ล้านบาท และภายใน 2-3 ปีข้างหน้า วางเป้าหมายจะผลักดันรายได้จากไทยเที่ยวไทยให้ได้ 1 ล้านล้านบาท

ทั้งในส่วนของการวางแผนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น ททท.ได้วางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 ตลาด คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Y) วัยเริ่มต้นการทำงานทั้งแบบประจำและทำงานอิสระ กลุ่มผู้หญิง (Lady) กลุ่มครอบครัวที่ไม่มีบุตรนิยมเดินทางท่องเที่ยวเป็นคู่ (DINKs) และกลุ่มคุณภาพสูงและผู้สูงวัย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดแคมเปญกระตุุ้นให้คนไทยเที่ยวไทย
โดยอยู่ภายใต้ 3 แคมเปญใหญ่ คือ “12 เมืองต้องห้ามพลาด…PLUS” เป็นแคมเปญที่สร้างรายได้หมุนเวียนภายในประเทศ ใน 12 จังหวัดเมืองต้องห้ามพลาด โดยที่ผ่านมาโครงการนี้ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นราว 20% สร้างการรับรู้ด้านการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง ตามมาด้วยแคมเปญ “เขาเล่าว่า…” ซึ่งชู 24 ไฮไลต์แหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ และถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในปี 2559 และโครงการ “Outdoor Fest”

นับว่าทั้ง 3 แคมเปญจะช่วยสร้างความสมดุลของการท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดาให้มีความคึกคักขึ้น โดยจะมีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดโปรโมชันทั้งห้องพักและการเดินทาง โดยในปีหน้าแคมเปญเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศให้เติบโตขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับความเข้มแข็งของชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

กำลังโหลดความคิดเห็น