xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ดึง BOI ให้สิทธิพิเศษแฟรนไชส์ หวังช่วยเสริมแกร่งธุรกิจออกลุยตลาดโลก ตั้งเป้า 3 ปีมีไม่ต่ำกว่า 300 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สุวิทย์” ดึงบีโอไอให้สิทธิพิเศษธุรกิจแฟรนไชส์ หวังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ ตั้งเป้า 3 ปี ออกสู่ตลาดโลกไม่น้อยกว่า 300 ราย

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “สุดยอดแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก” ว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการกำหนดเงื่อนไขให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการ ทั้งการลดหย่อนภาษี และยกเว้นภาษีนิติบุคคลเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้รับสิทธิพิเศษจากบีโอไอ เพื่อส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้มีความเข้มแข็งจนสามารถขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศ

“บีโอไอคงต้องมีโปรโมชันต่างๆ ในการส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น โดยตอนนี้กำลังหารือในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจชุมชนและแฟรนไชส์ คาดว่าในเร็วๆ นี้ จะได้ข้อสรุป”

นายสุวิทย์กล่าวว่า กระทรวงฯ ยังได้ร่วมมือกับสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ ในการวางยุทธศาสตร์พัฒนาแฟรนไชส์ไทยให้เข้มแข็งในระยะยาว และการวางแผนในการผลักดันให้ธุรกิจขยายกิจการในตลาดอาเซียน และตลาดอื่นๆ ทั้งจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง เป็นต้น โดยได้ตั้งเป้าผลักดันแฟรนไชส์ไทยออกสู่ตลาดโลกใน 3 ปี (ปี 2559-61) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 300 ราย และสามารถขยายแฟรนไชส์ในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 1,800 ราย คาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 6,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ เบื้องต้นจะเน้นการผลักดันแฟรนไชส์ไทยเจาะตลาดอาเซียน โดยใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในช่วงปลายปี 2558 เพราะอาเซียนเป็นตลาดที่มีโอกาสในการขยายธุรกิจได้ดี และประชาชนในอาเซียนต่างยอมรับในสินค้าและบริการของไทย จึงไม่เป็นเรื่องยากที่จะผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านธุรกิจแฟรนไชส์ในภูมิภาคอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ในการผลักดันแฟรนไชส์ไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศ ทางภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ เช่น ช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การยกร่างกฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์, การเร่งใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดความพร้อมรับมือการเปิด AEC เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับที่จะเร่งผลักดันให้แล้ว

ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีจำนวน 1,519 ราย เป็นนิติบุคคล 1,230 ราย และบุคคลธรรมดา 289 ราย แบ่งเป็นหมวดค้าปลีก 38% หมวดอาหารและเครื่องดื่ม 28% หมวดธุรกิจบริการ 23% หมวดการศึกษา 6% และหมวดความงาม สปา 5% โดยมีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 59,502 ล้านบาท และมีรายได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 645,798 ล้านบาทต่อปี

นายสุวิทย์กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) รอบที่ 2 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยมีแผนปฏิบัติงาน 3 เรื่อง คือ การสร้างหลักประกันทางธุรกิจ การพัฒนานักการค้ามืออาชีพ และส่งเสริมผู้ประกอบการขยายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ โดยใช้งบประมาณรวม 187 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น