ASTVผู้จัดการรายวัน - สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ เผยปี 58 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 30 ล้านคน เพิ่มขึ้น 22.28% พร้อมสร้างรายได้ 1.42 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.45% แต่สัดส่วนนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายต่อคนสูงกลับลดลง เผยนักท่องเที่ยวจากเอเชียเพิ่มสูงถึง 73% โดยเฉพาะจีนมีมากกว่า 8 ล้านคน มั่นใจรายได้ท่องเที่ยวในประเทศเข้าเป้า 8 แสนล้านบาท พร้อมแนะมาตรการกระตุ้นคนไทยเดินทางมากขึ้น
นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า สทท. ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 เพื่อคาดการณ์และสะท้อนถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต (รายไตรมาส) และเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
โครงการดังกล่าวเป็นการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 600 ราย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีค่าเท่ากับ 98 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับแย่กว่าปกติ เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัว (ร้อยละ 38) การแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่รุนแรง (ร้อยละ 34) การเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (ร้อยละ 34) และต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น (ร้อยละ 32) ขณะที่ยังมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ประเมินสถานการณ์ว่าดีกว่าปกติ เพราะความสงบทางการเมือง (ร้อยละ 30) และการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ (ร้อยละ 29)
ส่วนภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไตรมาสที่ 4/58 มีค่าเท่ากับ 102 ซึ่งถือว่าดีกว่าปกติ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ร้อยละ 39) โดยยังมีบางส่วนยังกังวลว่าจะแย่กว่าปกติเพราะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังชะลอตัว (ร้อยละ 32) โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 39) เห็นว่าจะส่งผลลบต่อธุรกิจของตนเอง เนื่องจากประชาชนจะยังไม่กล้าใช้เงินและลดการท่องเที่ยวลง
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 58 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 22.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.78% โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 4/58 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาอีกประมาณ 8.14 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียน 2.29 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.21% นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก 3.26 ล้านคน เพิ่มขึ้น 37.92% และนักท่องเที่ยวจากยุโรป 1.35 ล้านคน ลดลง 21.45%
ในปี 2558 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดประมาณ 30.30 ล้านคน เพิ่มขึ้น 22.28% พร้อมสร้างรายได้ 1.42 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.45% ซึ่งถือเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงรายได้และจำนวนวันเข้าพักต่อคนกลับพบว่าลดน้อยลง จากคนละ 47,271 บาทต่อการพักครั้งละ 9.85 วันในปี 2557 เป็นคนละ 47,010 บาทต่อการพักครั้งละ 9.3 วันในปี 2558
“จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเอเชียที่มีสัดส่วนเพิ่มถึง 73% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งคาดว่าจะมีมากถึง 8.14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 76.31% ขณะที่นักท่องเที่ยวยุโรปซึ่งมีจำนวนวันพักเฉลี่ยและค่าใช้จ่ายต่อคนสูงกลับมีจำนวนลดลง ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพและรายได้มากกว่าจำนวน เพราะยิ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นก็ย่อมมีผลทำให้แหล่งท่องเที่ยวในประเทศเสื่อมโทรมมากขึ้น” นายอิทธิฤทธิ์กล่าว
โครงการฯ ยังสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 350 ราย พบว่า ร้อยละ 81 มีความพึงพอใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพักผ่อน ร้อยละ 43 เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ร้อยละ 23 ส่วนใหญ่เดินทางมากับครอบครัว ร้อยละ 30 และเพื่อน ร้อยละ 25 ขณะที่กิจกรรมสำคัญที่ทำส่วนใหญ่ ได้แก่ การเที่ยวชมสถานที่ทางธรรมชาติ ร้อยละ 58 การเที่ยวชมสถานที่ทางวัฒนธรรม ร้อยละ 40 และการทำสปา ร้อยละ 31
“นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ร้อยละ 30 ยังคงค้นหาข้อมูลของประเทศไทยผ่านทางอินเทอร์เน็ต และหนังสือนำเที่ยว ร้อยละ 23 โดยเห็นว่าประเทศที่ถือเป็นคู่แข่งคือ เวียดนาม มาเลเซีย ฮ่องกง และลาว”
นายอิทธิฤทธิ์กล่าวในตอนท้ายว่า แนวทางหนึ่งของ สทท.ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยคือ การส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อเน้นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และละตินอเมริกา โดยร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในความร่วมมือการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษของ อพท. โดยมีกรอบการดำเนินงานร่วมกัน 3 ปีในการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ชุมชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวางแผน กำหนดทิศทาง พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีความเข้าใจการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนมากขึ้น
*** เสนอมาตรการกระตุ้นคนไทยเดินทางมากขึ้น ***
ด้าน นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช รองประธานด้านการตลาดในประเทศ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยถึงแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยว่า ภาครัฐควรมีมาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจและกระตุ้นนักท่องเที่ยวไทยให้เดินทางภายในประเทศมากขึ้นเพื่อทำรายได้ตามเป้าหมาย 8 แสนล้านบาทในปี 2558 โดยในช่วงสามไตรมาสแรกที่ผ่านมาสามารถทำรายได้แล้วประมาณ 6 แสนล้านบาท
ในเดือน พ.ย. ศกนี้ สทท.จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) โดยเฉพาะวาระสำคัญ คือ มาตรการภาษีส่งเสริมเที่ยวทั่วไทยที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวไทยนำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ โดยต้องเป็นการจองและชำระเงินกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
“ก่อนหน้านั้นภาครัฐกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวว่าต้องเป็นผู้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1.5 หมื่นบาท แต่ สทท.เห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเป็นผู้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 5 หมื่นบาท โดยจะสามารถได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี 20% ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้นอกจากจะจูงใจนักท่องเที่ยวมากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันภาครัฐยังเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยตรงด้วยการมอบหมายให้กรมสรรพากรส่งเอกสารแนบไปยังผู้มีสิทธิ์ดังกล่าวซึ่งมีเป็นจำนวนประมาณ 2 ล้านคน โดยไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองงบประมาณการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” นายยุทธชัยกล่าวเสริม
นอกจากนั้น ภาครัฐยังควรสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีประมาณ 2 พันรายให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันรายละประมาณ 5 ล้านบาท หรือคิดเป็นงบประมาณรวม 1 หมื่นล้านบาท
นายยุทธชัยกล่าวด้วยว่า สทท.ยังจะเสนอภาครัฐให้ขยายเวลานโยบายสนับสนุนข้าราชการไทยให้เดินทางภายในประเทศทดแทนการศึกษาดูงานต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี โดยเห็นว่าอาจยกเว้นการเดินทางไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อเป็นเตรียมตัวเข้าสู่เขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีการเข้าพักในประเทศไทยอย่างน้อยเป็นเวลา 1 คืนต่อรอบการเดินทาง
นอกจากนั้นยังเห็นว่าภาครัฐควรประกาศให้เทศกาลวันตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการ เพื่อส่งเสริมให้มีการเดินทางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เริ่มประกาศแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เป็นต้น
“การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศยังสามารถทำได้อีกหลายแนวทาง เช่น ขอความร่วมมือจาก กระทรวงศึกษาธิการ ในการนำนักเรียนเดินทางไปทัศนศึกษายังสถานที่ต่างๆ รวมถึงการกำหนดให้มีการจัดงานเมกะอีเว้นท์ขนาดใหญ่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นผู้ประกอบการรถโดยสารนักท่องเที่ยวยังควรมีการปรับปรุงคุณภาพรถโดยสารให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนพัฒนาศักยภาพการโดยสารทางบกให้เทียบเท่าการโดยสารทางอากาศก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะจูงใจให้มีนักเที่ยวไทยเดินทางเพิ่มมากขึ้น” นายยุทธชัยกล่าวในที่สุด