“บีโอไอ” เผยปี 2558 หลังปรับยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่จีนแซงลงทุนด้วยปริมาณเงินลงทุนสูงสุดขึ้นเป็นอันดับ 1 ในไทยแซงญี่ปุ่น แต่หากพิจารณาจากจำนวนโครงการญี่ปุ่นก็ยังครองแชมป์ บีโอไอลงนามกับนายกเทศมนตรีเมืองฮามามัตสึเร่งดึง SMEs เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไทย
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปี 2558 คาดว่านักลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนยังประเทศไทยด้วยปริมาณเงินลงทุนมากสุดเป็นอันดับ 1 แทนนักลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปีนี้ หลังจากบีโอไอมีการปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่เนื่องจากจีนมีการลงทุนด้วยเม็ดเงินการลงทุนที่สูงกว่า
“8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 58) มีจำนวนโครงการยื่นขอส่งเสริมฯ กับบีโอไอจำนวน 332 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 50,267 ล้านบาท โดยพบว่าสิงคโปร์มาลงทุนเป็นอันดับ 1 จำนวน 51โครงการ เงินลงทุน 1.31 หมื่นล้านบาท จีน 37 โครงการ ลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ส่วนญี่ปุ่น จำนวน 92 โครงการ เงินลงทุน 9.9 พันล้านบาท จะเห็นว่าหากดูโครงการแล้วญี่ปุ่นยังมากอยู่ แต่กรณีจีนที่มีมูลค่าอันดับหนึ่งเพราะมีการลงทุนผ่านสิงคโปร์ด้วย” นางหิรัญญากล่าว
สำหรับการลงทุน FDI ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ส่วนใหญ่เป็นกิจการบริการและสาธารณูปโภคคิดเป็น 39.5% โดยจีนส่วนใหญ่จะลงทุนในกิจการพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และจำนวนโครงการที่ต่างชาติยื่นขอส่งเสริมการลงทุนคิดเป็น 52.7% ของจำนวนโครงการทั้งสิ้นที่ยื่นขอส่งเสริมฯ ในรอบ 8 เดือนที่มีจำนวนทั้งสิ้น 629 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1.19 แสนล้านบาท
นางหิรัญญากล่าวว่า ทั้งนี้ การลงทุนของญี่ปุ่นในอดีตมีการลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภคที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงไปแล้วจำนวนมาก และในปีนี้เมื่อบีโอไอปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นเชิงนวัตกรรมญี่ปุ่นจึงเน้นการลงทุนที่กิจการด้านสำนักงานตัวแทนการค้า และสำนักงานภูมิภาค และเป็นการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่มีนวัตกรรมสูงมากขึ้น โดยล่าสุดบีโอไอได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับนายยาสุโตโมะ ซูซูกิ นายกเทศมนตรีเมืองฮามามัตสึ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนทั้งสองฝ่ายที่มี นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน
“บีโอไอจะพยายามดึงการลงทุนญี่ปุ่นเพื่อที่จะให้การลงทุนญี่ปุ่นในไทยกลับมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเห็นว่า SMEs ที่มีศักยภาพของญี่ปุ่นและตรงเป้าหมายนโยบายของบีโอไอที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงจะมีโอกาสเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และก็ไม่กังวลว่าการลงทุนญี่ปุ่นที่มูลค่าลดลงเพราะจะเทียบกับปีที่ผ่านมาไม่ได้เพราะเราได้ปรับมาตรการการลงทุนใหม่” นางหิรัญญากล่าว
นายยาสุโตโมะ ซูซูกิ นายกเทศมนตรีเมืองฮามามัตสึ กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนจากเมืองฮามามัตสึเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 66 บริษัท เช่น ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) บ.ไทยอาซาฮีเดนโซ ฯลฯ และหลังจากลงนามแล้วก็จะเปิดโอกาสให้การลงทุนมากขึ้นเพราะ SMEs ในเมืองดังกล่าวมีถึง 3,000 บริษัท