กระทรวงพลังงานเตรียมประสานกระทรวงมหาดไทย หวังบังคับอาคารใหม่ต้องประหยัดพลังงาน เริ่มจาก 5,000 ตารางเมตร และลดเหลือ 2,000 ตารางเมตรภายใน 5 ปี
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการตรวจเยี่ยมกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ว่า เร็วๆ นี้ พล.อ.อนันตพร กาญจรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเร่งรัดการออกมาตรฐานการออกแบบควบคุมอาคารใหม่ที่กำหนดให้อาคาร 2,000 ตารางเมตรต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพลดการใช้พลังงาน 20% เมื่อเทียบกับอาคารทั่วไป
“จากการหารือระดับข้าราชการ ทางกระทรวงมหาดไทยระบุว่ายังไม่สามารถประกาศบังคับใช้ 2,000 ตางรางเมตรได้ทันที จึงเสนอว่าจะทยอยบังคับใช้ภายใน 5 ปี โดยช่วงปี 2559-2560 จะบังคับสำหรับอาคารใหม่ที่มีพื้นที่ 1,000 ตารางเมตรเป็นต้นไป และปี 2561-2562 บังคับใช้สำหรับพื้นที่ 5,000 ตารางเมตรเป็นต้นไป และตั้งแต่ปี 2563 บังคับใช้สำหรับอาคาร 2,000 ตารางเมตรเป็นต้นไป” นายอารีพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดใช้พลังงาน โดยขณะนี้คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานเห็นชอบงบกองทุนฯ 10,152 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน เทียบเท่าน้ำมัน 666 ล้านลิตร หรือลดใช้พลังงาน 13,351 ล้านบาท โดยการดำเนินการจัดทำหลายรูปแบบ ขณะเดียวกัน ได้เร่งรัดมาตรการสนับสนุนทางการเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น ผ่านเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 3% วงเงิน 4,500 ล้านบาท และในรูปแบบบริษัทจัดการพลังงาน หรือเอสโค ที่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ เช่น โรงงานน้ำแข็ง ห้องเย็น ธุรกิจอาหาร และเครื่องเย็น ธุรกิจอาหารสัตว์ กลุ่มผู้ประกอบการเครื่องจักรประสิทธิภาพต่ำ โดยจะหารือแนวทางและข้อกำหนดเรื่องนี้ให้ชัดเจนภายใน 1 เดือน
ส่วนกรณีมีข่าวประชาชนถูกกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นตัวแทนหน่วยงานราชการเรียกเก็บเงินสำหรับค่าติดต่อประสานงานติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ของหน่วยงานราชการและสหกรณ์นั้น ทางกระทรวงพลังงานขอเตือนว่าประชาชนอย่าหลงเชื่อบุคคลแอบอ้างเด็ดขาด เพราะโครงการดังกล่าวต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานราชการและสหกรณ์เท่านั้นซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดตามแนวสายส่งที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด หากพื้นที่ใดมีผู้สนใจเข้าโครงการเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าที่กำหนดในแต่ละพื้นที่ก็ต้องมีการคัดเลือกและตรวจสอบผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนก่อนจับสลากให้ได้ผู้ผลิตไฟฟ้าเหมาะสมกับกำลังการผลิตจริงตามขั้นตอน