xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ตั้งงบเวนคืนโมโนเรลสายสีเหลืองกว่า 6 พันล้าน ตั้งเป้าตอกเข็ม60 สร้างเสร็จปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รฟม.” ตั้งงบเวนคืนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กว่า 6 พันล้าน เผยรอพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติม และ ครม.อนุมัติโครงการก่อนลงพื้นที่สำรวจแนวเวนคืนละเอียดและกำหนดค่าทดแทน ตั้งเป้าตอกเข็ม มี.ค. 2560 แล้วเสร็จ มิ.ย. 2563

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า ตามที่มีพระราชกฤษฎีกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน (พ.ร.ฎ.) พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 54,644 ล้านบาท โดยมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ใน 8 ท้องที่ ได้แก่ เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง เขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตบางนา ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเขตอําเภอบางพลี อําเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมานั้น เบื้องต้นได้กำหนดงบประมาณค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ประมาณ 6,013 ล้านบาท

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ รฟม.ยังไม่สามารถลงพื้นที่สำรวจอสังหาริมทรัพย์และกำหนดค่าทดแทนได้ เนื่องจากยังมีขั้นตอนการทำงานและการกำหนดแนวเขตทาง โดยการวัดแนวเขตทางและจัดกรรมสิทธิ์แนวเวนคืน จะมีการจากกึ่งกลางถนน รัศมีข้างละ 100 เมตร (รวมสองข้างจึงเป็น 200 เมตร) ส่วนบริเวณแยกศรีเอี่ยมซึ่งเป็นจุดที่จะมีทั้งสถานีรถไฟฟ้า อาคารจอดรถและโครงสร้างทางเข้าออกอาคาร จึงขยายเป็น 250 เมตร รวมทั้งการดำเนินงานโครงการในปัจจุบัน อยู่ระหว่างคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในส่วนของรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อทราบ เนื่องจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลักได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปแล้ว และจะสามารถลงพื้นที่เพื่อสำรวจอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการก่อน โดยจะต้องมีการของบประมาณค่าเวนคืนที่ดินให้ชัดเจน

สำหรับรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้น รฟม.ได้เสนอรูปแบบรัฐลงทุนเฉพาะค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนค่าลงทุนก่อสร้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้าจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบ การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP) ทั้งหมด ก่อสร้างเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบ Straddle Monorail ซึ่งกระทรวงคมนาคมให้เห็นชอบในหลักการไปแล้ว และขณะนี้ รฟม.ได้มีการส่งเอกสารรายละเอียดไปยังสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณารูปแบบการลงทุนและดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2556 โดยภายหลังจากที่ สคร.เห็นชอบก็จะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือคณะกรรมการ PPP ทั้งนี้ ภายหลังจากที่คณะกรรมการ PPP พิจารณารายงานเสร็จเรียบร้อยจะต้องมีการเสนอต่อ ครม.อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้ในเดือน มี.ค. 2560 แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น