xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยนำกฎหมายแข่งขันมาปรับปรุงใหม่ หลังมีข้อกังวลการแยกเป็นองค์กรอิสระ และที่มาของบอร์ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” รับนำ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้ากลับมาปรับปรุงแก้ไขใหม่อีกครั้ง ระบุยังมีข้อกังวลในส่วนของการปลดให้สำนักงานเป็นองค์กรอิสระ และที่มาของกรรมการจะปลอดการเมืองได้จริงหรือไม่ เตรียมหารือทุกภาคส่วนอีกครั้งก่อนนำเสนอ ครม. เอกชนมึนทำเสร็จแล้วแต่เอากลับมาทำใหม่ เข้าทางรายใหญ่ผูกขาดได้ต่อไป

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้นำร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่ได้มีการปรับปรุงใหม่กลับมาทบทวนอีกครั้ง หลังจากที่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย ประกอบกับมีกฎหมายที่เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหลายส่วนมีความคล้ายคลึงกัน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงต้องการปรับปรุงให้ร่างใหม่ที่จะออกมามีผลบังคับใช้ สามารถดูแลการประกอบธุรกิจได้จริง

“กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ เพราะกระทบทุกภาคส่วน ทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ จึงต้องดูแลให้รอบคอบ ซึ่งขณะนี้กำลังทำงานอย่างเข้มข้นและเร่งรัดให้การปรับปรุงกฎหมายมีความรัดกุม ชัดเจนมากที่สุด โดยจะมีการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และนำข้อเสนอแนะทุกอย่างมาปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอตามขั้นตอนต่อไป”

สำหรับประเด็นที่จะมีการปรับปรุงแก้ไข เช่น จะทบทวนดูว่าการกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ มีความเหมาะสมและมีทางเลือกอื่นหรือไม่ การสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการ โดยการปรับปรุงแก้ไขกำหนดให้การสรรหาต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิจะปลอดจากการเมืองจริงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ฝ่ายการเมืองก็ถูกล็อบบี้โดยธุรกิจรายใหญ่ ไม่ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดระยะเวลาการบังคับใช้เกือบ 16 ปีที่ผ่านมา และเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ได้กำหนดให้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เป็นหนึ่งในกฎหมายเร่งด่วนที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข กำหนดเส้นตายไว้ คือเดือน มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การดำเนินการหลังจากมีรัฐบาล คสช. กรมการค้าภายในในฐานะเจ้าของกฎหมาย ได้นำเสนอร่างแก้ไขที่ปรับปรุงแก้ไขให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีต รมว.พาณิชย์ พิจารณาในเดือน มี.ค. 2558 แต่ได้มีการสั่งการให้ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จและเสนอใหม่ในเดือน พ.ค. 2558 และได้ถูกดึงเรื่องไว้ จนมีการเปลี่ยนตัว รมว.พาณิชย์ เป็นนางอภิรดี และจากนั้นได้มีการนำเสนอร่างปรับปรุงแก้ไขต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และล่าสุดมีข่าวออกมาว่านายสมคิดไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาใหม่ จึงเป็นที่มาของการทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วย เพราะกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาแล้ว ขณะที่ สปช. และ สนช.ก็ได้มีมติให้เร่งรัดกฎหมายฉบับนี้ แต่เมื่อกระทรวงพาณิชย์นำกลับมาทบทวนใหม่ก็จะส่งผลให้การแก้ไขกฎหมายต้องล่าช้าออกไปอีก ทำให้ข้อกังวลที่ว่ารัฐบาลไม่ยอมแก้ไขกฎหมาย เพราะผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ไม่เห็นด้วยน่าจะเป็นความจริง

ก่อนหน้านี้ มีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่ารัฐวิสาหกิจรายใหญ่ และธุรกิจรายใหญ่ ไม่ต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพราะหากต้องปฏิบัติตามกฎหมายก็จะทำให้ไม่สามารถทำการผูกขาด หรือเอารัดเอาเปรียบธุรกิจรายกลาง รายเล็กได้อีกต่อไป ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่จะต้องมาอยู่ภายใต้กฎหมาย เช่น ปตท. การบินไทย ทอท. กรุงไทย อสมท เป็นต้น ส่วนธุรกิจรายใหญ่ เช่น กลุ่ม ซี.พี. ไทยเบฟ เป็นต้น

สำหรับสาระการปรับปรุงกฎหมาย กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์, กรรมการต้องสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ, กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจแข่งกับภาคเอกชนและแสวงหาผลกำไร ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้, เพิ่มเติมคำนิยมของบริษัทให้ครอบคลุมบริษัทในเครือ, เปลี่ยนแปลงโทษ ทั้งอาญาและปรับ เพิ่มโทษทางปกครอง และกำหนดให้สามารถพิจารณาเอาผิดกับธุรกิจไทยที่กระทำผิดนอกราชอาณาจักร แต่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น