xs
xsm
sm
md
lg

จัดลำดับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเขต ศก.พิเศษปี 60 เผยงบสูงถึง 9.7 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” เผยงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปี 60 ต้องทบทวนและจัดลำดับความสำคัญแต่ละโครงการใหม่ หลังอนุโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรฯ เสนองบลงทุนกว่า 9.7 หมื่นล้าน ชี้รัฐจัดสรรให้ในปีเดียวไม่ไหว ส่วนปี 59 ได้งบรวมกว่า 5 พันล้านเร่งงานรับเปิด AEC

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2558 ได้พิจารณางบประมาณในปี 2559 สำหรับการดำเนินโครงการของทุกหน่วยงาน วงเงินรวมกว่า 5,000 ล้านบาท โดยในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้นำเสนอแผนงานดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไปซึ่งพบว่าจะต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรวมถึง 97,000 ล้านบาท มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งด้านถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) งานด้านประปา ไฟฟ้า ผังเมือง เป็นต้น ทั้งนี้เห็นว่าคงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้ทั้งหมดในปีเดียว ดังนั้นจะต้องมีการบูรณาการงบประมาณและจัดลำดับความสำคัญของโครงการอีกครั้ง

ขณะที่การเปิด AEC ในปลายปี 2558 นั้นจะทำให้ไทยเป็นจุดเชื่อมต่อและศูนย์กลางการค้าขาย การท่องเที่ยวของภูมิภาค จะมีการเดินทางไปมาระหว่างกันจำนวนมากซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการมุ่งเน้นแผนพัฒนาพื้นชายแดนเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้าและท่องเที่ยวให้มีความสะดวก เพื่อเปิดประตูการค้าผ่านชายแดนให้มากที่สุด เช่น ขยายด่านแม่สอด จ.ตาก, ก่อสร้างด่านที่บ้านหนองเอียน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพิ่มเติมเพื่อแยกด่านขนส่งสินค้าและด้านท่องเที่ยวออกจากกัน, ก่อสร้างด่านสะเดา แห่งที่ 2 เป็นต้น

โดยในวันนี้ (9 ต.ค.) นายอาคมได้เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งครบรอบ 13 ปีของกรมทางหลวงชนบท พร้อมด้วยนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม โดยกล่าวว่ากรมทางหลวงชนบทเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีหน้าที่ในการก่อสร้างถนนสายรองเชื่อมทางหลวงสายหลักไปสู่ถนนย่อย และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งภาคตะวันตกจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด และกาญจนบุรี (ในอนาคต) ด้านตะวันออกจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ หนองคาย, มุกดาหาร, อุบลราชธานี ด้านเหนือจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ภาคใต้จะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ สงขลา ภาคกลางจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่ง ทช.มีหน้าที่สนับสนุนถนนที่เป็นโครงข่ายเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ และยังมีหน้าที่พัฒนาถนนเพื่อสนับสนุนท่องเที่ยวและชุมชน รวมถึงพัฒนาถนนให้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น