xs
xsm
sm
md
lg

เร่งวางแผนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 23 จังหวัด หลังพบชายฝั่งพังหายไปปีละ 1-5 เมตร(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมทรัพย์ฯ ร่วมกับจังหวัดชลบุรี หารือร่วมร่างแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัด ตามโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง รายจังหวัด 23 จังหวัด หลังพบชายฝั่งพังหายไปปีละ 1-5 เมตร



วันนี้ (11 พ.ย.) นายวีระ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 ในการนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์การแกไข้ปับหาการกัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด 23 จังหวัด เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างบูรณาการ พบว่า ปัจจุบันสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลยังรุนแรงในทุกจังหวัด โดยทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ เพื่อนำไปสู่กรอบการแก้ไข ป้องการ พื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย

น.ส.สมศรี อวเกีรยติ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการกัดเซาะทั้งลักษณะทางสมุทรศาสตร์ คลื่น กระแสลม ลักษณะโครงสร้างชายฝั่ง วิศวกรรม เศรษฐกิจสังคม และชุมชน ในส่วนของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาโดยตลอด แต่การดำเนินงานในระดับต่างๆ ยังไม่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างบูรณาการ

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้จัดทำโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด 23 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มพื้นที่ 4 กลุ่ม ได้แก พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก 4 จังหวัด พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน 5 จังหวัด พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน 5 จังหวัด พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง 8 จังหวัด และพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด ได้มีกำหนดจัดประชุม จำนวน 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ศึกษารับทราบ รวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อโครงการ และรับฟังความคิดเห็น และในครั้งนี้เพื่อนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์ เพื่อจัดทำแนวทาง กลยุทธ์ แผนงาน และโครงการป้องกันแก้ไขพัฒนาสภาพแวดล้อมชายฝั่งระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ เพื่อบูรณาการแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้สอดคล้องต่อแผนต่างๆ ที่มีในท้องถิ่น

เช่น แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด แผนส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้จังหวัดมียุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ด้านการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่บูรณาการทั้งในส่วนกลางและในท้องถิ่นของจังหวัด มีแผนงานสำหรับดำเนินงานแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระยะสั้น ปี พ.ศ.2556-2559 และระยะยาวถึงปี พ.ศ.2570 และเพื่อให้ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด 23 จังหวัด เป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ดังนั้น เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มอบหมายให้บริษัท วิสุทธิ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานโครงการดังกล่าว

ทางด้านตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ และทำการสำรวจพบว่า ที่ผ่านมา ชายฝั่งทะเลของจังหวัดชลบุรี ได้ถูกกัดเซาะประมาณ 1-5 เมตร ต่อปี แต่ถ้าในอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไข จะทำให้สภาพของชายฝั่งจากปากแม่น้ำบางปะกง คลองตำหรุ อ่างศิลา บางแสน ศรีราชา แหลมฉบัง พัทยา บาลีฮาย และยาวไปจนถึงแสมสาร และคลองบางไผ่ มีอัตราการกัดเซาะรุนแรงมากว่า 5 เมตรต่อปี

สำหรับทางการแก้ไขจากการวิเคราะห์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการประยุกต์ใช้แบบจำลองชายฝั่ง โดยอาศัยการบูรณาการชายฝั่งด้วยระบบหาด เพื่อจำลองสถานการณ์ในอนาคต เมื่อมีแนวทางการแก้ไขเพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ดังนี้

1.การพิจารณาแก้ไขโดยการใช้ระบบหาดในการจัดการสมดุลของตะกอน การสร้างสมดุลของตะกอนในระบบหาดให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลทั้ง 5 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมถึงการพิจารณาระบบหาดย่อย ซึ่งมีการเติมตะกอนจากปากแม่น้ำต่างๆ

2.การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนในพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะ โดยการใช้มาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อน โดยการใช้มาตรการแบบอ่อนผสมผสานในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การแก้ไขปัญหาส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง และพื้นที่ชายฝั่งข้างเคียงน้อยที่สุด และให้มีความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่

3.การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการกำหนดแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบหาดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ต้องศึกษาวิเคราะห์ให้ครอบคลุมทั้งระบบหาด

4.ต้องมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่ง โดยการเก็บข้อมูลทางวิศวกรรมชายฝั่งที่สำคัญอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

5.การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง โดยการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวัง การอบรมความรู้

6.มีการศึกษา วิจัย จัดทำฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

7.กำหนดมาตรการการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้สอดคล้องต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558



กำลังโหลดความคิดเห็น