“อพท.สบช่องว่างการตลาด ผนึกกำลังดีไซน์เนอร์และผู้ประกอบการท้องถิ่น พัฒนาผลิตภัณฑ์นำร่องโครงการพัฒนาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ส่งแบรนด์ “มรดกพระร่วง” ชูดีไซน์ใหม่ร่วมสมัย รุกขยายตลาดไทย-เทศ ปูพรมดึงภาครัฐ-เอกชน ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในภูมิภาค คาดได้รับผลตอบรับที่ดี
พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ถือเป็นเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองมรดกโลก มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีศิลปวัฒนธรรมไทยที่สำคัญ ผนวกกับศักยภาพของงานช่างฝีมือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ทรงคุณค่า ภูมิปัญญา สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมแห่งเมืองพระร่วง และยังมีช่องว่างทางการตลาดที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และขยายตลาดสู่วงกว้างทั้งในและต่างประเทศ
อพท.จึงจัดทำโครงการพัฒนาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร โดยร่วมมือกับดีไซเนอร์ระดับแนวหน้าและผู้ประกอบการท้องถิ่น พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายใต้ชื่อแบรนด์ “มรดกพระร่วง” เพื่อใช้ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ตามยุทธศาสตร์รุกขยายตลาดสู่เมืองให้ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยใช้ตราสัญลักษณ์ หรือ Brand Identity ด้วยเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และ 3 ห่วงอินฟินิตี้ สื่อแทนคุณค่าที่ทั้งสามพื้นที่มีร่วมกัน คือ ประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างเมืองของคนไทยที่มีสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เป็นแผ่นดินแห่งกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงที่มีการสืบทอดศาสตร์และศิลป์กันมาอย่างยาวนานกว่า 700 ปี
ทางด้านนางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ อพท.กล่าวว่า โครงการพัฒนาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จะชูแบรนด์ “มรดกพระร่วง” เป็นดีไซน์ร่วมสมัยใหม่ที่สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มแก่ตัวผลิตภัณฑ์นำร่องด้วย 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์แรก ประกอบด้วย 1. เครื่องสังคโลก 2. เครื่องทอง-เครื่องเงิน 3. ผาซิ่นตีนจก และ 4. งานพุทธศิลป์ โดยได้รับความร่วมมือจากดีไซเนอร์มืออาชีพทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ คุณรัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และงานสังคโลก คุณกุลธิรัตน์ มีสายญาติ นักออกแบบเครื่องประดับและของตกแต่งบ้าน คุณขนิษฐา นวลตรณี ผู้ประกอบการท้องถิ่นและ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอ และคุณพิบูลย์ อมรจิระภรณ์ สถาปนิกและนักออกแบบงานพุทธศิลป์ โดยพัฒนาตามแนวคิด Co-Creation ของ อพท. คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ร่วมกัน
แนวคิด Co-Creation คือ การร่วมคิดร่วมสร้างสรรค์ซึ่งให้ความสําคัญกับการนำทุนศิลปวัฒนธรรมที่ค้นคว้าได้มาประยุกต์เป็นงานออกแบบสร้างสรรค์ โดยดําเนินการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมคิดร่วมสร้างให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงาม โดดเด่น แตกต่าง ด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีประโยชน์ใช้สอยที่ตอบสนองความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภค รวมทั้งเป็นตัวแทนในการสื่อสารคุณค่าของแบรนด์ในพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กําแพงเพชร
สำหรับกลยุทธ์การตลาดจะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนแบรนด์ เป็น 2 ระยะ คือ แผนการดำเนินงานระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นจะมุ่งขยายฐานลูกค้าเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้และยอดขาย โดยเลือกการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะตลาดคนรุ่นใหม่และเลือกใช้กลยุทย์เพื่อตอบสนองตลาดใหม่ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการออกไลน์สินค้าใหม่ซึ่งมีรูปแบบและลวดลายที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์สินค้าที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อขยายฐานลูกค้า การจำหน่ายผ่านช่องทางเฉพาะกลุ่ม (Selective Shop) การหาตัวแทนจัดจำหน่าย การพัฒนาระบบจำหน่ายบนออนไลน์ และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น
“ส่วนแผนระยะยาวจะเป็นการต่อยอดแตกไลน์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสมบูรณ์ในด้านรูปทรง ประโยชน์ใช้สอยตรงตามความต้องการและกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการของฝาก ของที่ระลึก หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายเครือข่ายในการจัดจำหน่ายให้แพร่หลายมากขึ้ด้วยการส่งเสริมการตลาดแบบ Below the Line เช่น แผนการตลาดเพื่อชุมชนด้วยการจัดกิจกรรมในพื้นที่เพื่อนําเสนอประเพณี หรือวัฒนธรรมของท้องถิ่น การรร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขอ แต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงการจับมือร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำ City Map เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น”
นางศิริกุลกล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวความคิดในการดำเนินโครงการและแผนงานในการขับเคลื่อนแบรนด์ “มรดกพระร่วง” ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นและสามารถเลือกซื้อหาได้ในราคาที่เหมาะสม อพท.จึงได้จัดงานแสดงสินค้าต้นแบบ Flagship Collection ภายใต้ธีม “เสน่ห์ที่ซ่อนเร้น” เปิดตัวแบรนด์ “มรดกพระร่วง” เพื่อเปิดโอกาสทางการค้าแก่ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้นำเสนอผลงานและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก่ผู้จัดจำหน่ายปลีก-ส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งประชาชนทั่วไปโดยตรง โดยผู้สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ “มรดกพระร่วง” ติดต่อได้ที่คุณสุรางคนางค์ พ่วงแผน โทร. 08-3488-8733