แอร์พอร์ตลิงก์เปิด “ท่าเรือรามหนึ่ง” เชื่อมสถานีรามคำแหง เชื่อมโหมดเดินทาง “รถ-ราง-เรือ” สะดวกรวดเร็ว “อาคม” เผยปี 59 เร่งเปิดอีก 2 จุด ท่าเรือสาทรเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส และท่าเรือพระนั่งเกล้าเชื่อมรถไฟฟ้าสีม่วง พร้อมเร่งระบบตั๋วร่วมใน ส.ค. 59
วันนี้ (28 ก.ย.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานเปิด “ท่าเรือรามหนึ่ง” ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ รามคำแหง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามนโยบายการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน รถ-ราง-เรือ
โดยนายอาคมกล่าวว่า จุดนี้จะเป็นพื้นที่ต้นแบบเชื่อมการเดินทางด้วย รถ-ราง-เรือ พร้อมทั้งมีพื้นที่ของภาคเอกชนที่เช่าที่ดินรถไฟ นอกจากทำให้การเดินทางต่อเชื่อมสะดวกแล้วยังต่อเชื่อมกับพื้นที่พาณิชยกรรม และอนาคตจะเชื่อมกับพื้นที่ท่องเที่ยวอีกด้วย โดยท่าเรือรามหนึ่งห่างจากท่าเรือคลองตัน 50 เมตร ห่างจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีรามคำแหง 150 เมตร และห่างจากป้ายรถเมล์ 300 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ประชาชนสามารถเดินต่อเชื่อมกันได้ และยังมีรถไฟชานเมืองสายตะวันออกของ ร.ฟ.ท. (หัวลำโพง-แปดริ้ว) กว่า 20 ขบวนต่อวันให้บริการอีกด้วย
ในอนาคตจะมีการขยายการเดินทางรูปแบบรถ-ราง-เรืออีกหลายแห่ง เช่น ท่าเรือสาทรซึ่งมีการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส มีประชาชนเดินทางจากนนทบุรีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ท่าเรือเจ้าพระยา 19 ท่าจะมีการปรับปรุงใหม่ในปี 2559 โดยขณะนี้ที่ปรึกษากำลังศึกษาออกแบบการย้ายสถานีบีทีเอสตากสินเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้โดยสารในการต่อรถไฟฟ้ากับเรือด่วนเจ้าพระยา คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ และต่อไปจะเป็นท่าเรือพระนั่งเกล้าซึ่งมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการในปี 2559 เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดระบบตั๋วร่วม เพื่อนำมาใช้งานกับระบบขนส่งมวลชนทุกโหมด ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสและ รฟม. เร็วที่สุดในเดือน ส.ค. 2559 ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ ดังนั้นจะต้องมีการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทางแต่ละระบบ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามข้อจำกัดของแต่ละสถานีให้เหมาะสมกับกายภาพของพื้นที่
สำหรับการพัฒนาท่าเรือรามหนึ่งเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์รามคำแหงนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ทำการปรับปรุงสถานีรถไฟที่มีอยูู่เดิมโดยการก่อสร้างโครงข่ายถนนและทางเดินเชื่อมต่อพื้นที่ก่อสร้างสวนหย่อมและท่าเรือแห่งใหม่ พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมการเดินทางทั้งรถไฟสายตะวันออก รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และเรือโดยสาร ทำให้ประชาชนเข้าถึงและเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางได้สะดวกรวดเร็ว
ส่วนพื้นที่โดยรอบสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ รามคำแหงนั้น ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร ขสมก. และบริษัท แอร์พอร์ลิงก์ สแควร์ จำกัด