“ใบหยก” รุกหนัก ทุ่มงบก้อนโตพันล้านบาท 2 ปีนี้ ขยายพอร์ตโฟลิโอโรงแรม ทั้งสร้างใหม่และซื้อโรงแรมเก่าปรับปรุง ปีหน้าเปิดใหม่อีก 3 แห่ง ด้านธุรกิจอาหารเพิ่งชิมลาง 4 ปี เพื่อเป็นธุรกิจที่ 2 เน้นซื้อไลเซนส์และเทกโอเวอร์ ล่าสุดคว้าสิทธิ์สวีทมันสเตอร์จากเกาหลีรุกตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ
น.ส.จารุจิต ใบหยก ผู้ช่วยประธานกรรมการกลุ่มโรงแรมใบหยก เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีนี้กลุ่มใบหยกจะมีการลงทุนด้วยงบประมาณไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ใน 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอาหาร ซึ่งปัจจุบันธุรกิจโรงแรมยังคงเป็นธุรกิจหลักที่ทำมานานแล้ว มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 90% ส่วนธุรกิจอาหารนั้นถือเป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำมาประมาณ 4 ปี ในนาม บริษัท ใบหยก เอฟบี จำกัด เพื่อเป็นการขยายธุรกิจในการสร้างรายได้และการเติบโต และยังเป็นการลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจเดียวอีกด้วย
การทำธุรกิจอาหารถือได้ว่าเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว เพราะเป็นธุรกิจที่ลงทุนไม่มากและผลตอบแทนดีและคืนทุนเร็วเมื่อเทียบกับธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอาหารช่วงปีนี้ปีหน้าก็ลงทุนประมาณ 10-20 ล้านบาท ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนด้านโรงแรม
ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมในปีหน้า 2559 มีแผนที่จะเปิดโรงแรมใหม่อย่างน้อย 3 แห่ง คือ 1. โรงแรมสมุยซีโคสต์ ตำบลบ่อผุด เป็นโรงแรมที่ซื้อมาจากเจ้าของเดิมไม่นานมานี้แล้วทำการปรับปรุงใหม่ มีประมาณ 80 ห้องพัก และมีวิลล่าด้วย 2. โรงแรมใหม่ที่ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯฯ ชื่อว่า แบงคอก มิดทาวน์ จำนวน 100 ห้อง เป็นบัดเจ็ต โฮเตล จับตลาดกลุ่มคนจีนโดยเฉพาะ ขณะนี้อยู่ ระหว่างการก่อสร้าง และ 3. โรงแรมจัสติส ใกล้กับศาลรัชดาภิเษก มี 80 ห้อง คาดว่าก่อสร้าง แล้วเสร็จปลายปีหน้า
ขณะที่ปัจจุบันมีโรงแรมที่เปิดบริการแล้วจำนวน 5 แห่ง คือ 1. ใบหยกสกาย มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 80% 2. ใบหยกสวีท 3. ใบหยกบูติก เป็นบัดเจ็ตโฮเตล อยู่ด้านหลังใบหยกสกาย 4. โรงแรมหัวช้าง เฮอริเทจ อยู่สะพานหัวช้าง ราชเทวี มี 80 ห้องพัก อัตราพักเฉลี่ย 70-90% 5. โรงแรมใบหยกเจ๊า เชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินท์
สำหรับธุรกิจอาหารนั้น ในปีหน้าจะมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยยังคงยึดกลยุทธ์หลัก คือ เน้นการซื้อแฟรนไชส์ไลเซนส์ และการซื้อกิจการมาเปิดบริการเป็นหลัก ยังไม่มีการพัฒนาแบรนด์ของตัวเองแต่อย่างใด เนื่องจากต้องการเรียนรู้ระบบแฟรนไชส์ด้วย
ปัจจุบันมี 4 แบรนด์แล้ว คือ 1. ข้าวมันไก่ สิงคโปร์ ออชาร์ด ชิกเก้น ไรซ์ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ซื้อมาจากเจมส์ข้าวมันไก่ แล้วเปลี่ยนชื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ขณะนี้มี 3 สาขา คือ ที่พาราไดซ์ปาร์ค ซีดีซี และเอสพลานาด รัชดาภิเษก
2. ข้าวหมูทอดแบรนด์ยาบะโตะ จากนาโกย่า ญี่ปุ่น ซื้อแฟรนไชส์และทำมา 3 ปีแล้ว มี 1 สาขาคือ ที่เจอเวนิวทองหล่อ เตรียมเปิดสาขาที่ 2 ที่เซ็นทรัลอีสต์วิลล์ 3. แบรนด์ยามะจัง ซื้อแฟรนไชส์มาจากญี่ปุ่น เป็นอาหารประเภทอิซากายะ ไก่ทอด เปิดมาแล้ว 1 ปี มี 1 สาขาที่สุขุมวิท 39 เตรียมเปิดสาขาสองที่ธนิยะพลาซ่าเดือนพฤศจิกายนนี้ ลงทุนเฉลี่ย 6 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งแบรนด์นี้เจ้าของที่ญี่ปุ่นขายแฟรนไชส์ให้ไทยเป็นที่แรก หลังจากนั้นจึงขายแฟรนไชส์ต่อที่ฮ่องกง
4. แบรนด์ สวีทมันสเตอร์ (Sweet Monster) จากเกาหลี เป็นไอศกรีมมีจุดเด่นที่โรยด้วยป็อปคอร์น เพิ่งเริ่มปีนี้ ซื้อแฟรนไชส์มาจากเกาหลี แบรนด์นี้ที่เกาหลีมี 24 สาขา และไทยเป็นประเทศแรกที่เกาหลีขายแฟรนไชส์ให้ หลังจากนั้นจึงขายแฟรนไชส์ต่อที่ฮ่องกง ดูไบ เซี่ยงไฮ้ โดยบริษัทได้สิทธิ์ในไทยรายเดียว ได้สิทธิ์ 3 ปีต่อ 3 ปี เปิดสาขาแรกในไทยที่เจอเวนิวทองหล่อ ปีนี้ และเปิดสาขาสองที่สยาพารากอนเมื่อเดือนที่แล้ว อีกทั้งยังได้รับสิทธิ์ในการขายแฟรนไชส์ต่อในไทยด้วย
“เป้าหมายของแบรนด์สวีทมันสเตอร์นี้จะขยายได้ 5 แห่ง ใน 3 ปี ลงทุนประมาณ 7 ล้านบาทต่อสาขา คาดว่าประมาณปีครึ่งจะสามารถคืนทุนได้ หลังจากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการขายแฟรนไชส์ในไทยต่อไป” น.ส.จารุจิตกล่าว