“คมนาคม” เตรียมลดค่าโดยสารรถ บขส.และรถร่วมฯ บขส. 2-3 สต./กม. มีผล 20 ส.ค. 58 ส่วนสองแถวกับรถเมล์ ขสมก.ใช้ราคาเดิม ด้าน “เจ๊เกียว” ไม่ขัดข้อง วอนรัฐช่วยผู้ประกอบการ เลิกเก็บค่าขา ชี้น้ำมันไม่ใช้ปัจจัยหลัก แต่จำนวนผู้โดยสารลดลง ผู้ประกอบการอยู่ไม่ไหว
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากเดิมที่มีราคาประมาณ 29 บาทกว่าๆ ต่อลิตร กระทั่งขณะนี้ราคาเหลือที่ลิตรละ 22.89 บาทนั้น น้ำมันถือเป็นปัจจัยหลักของต้นทุนสำหรับการขนส่งโดยมีปัจจัยสำคัญถึง 35-40% ของต้นทุน โดยต้องพิจารณาให้รอบด้านทั้งต้นทุนการจัดหารถ ต้นทุนการเช่ารถ ต้นทุนการซ่อมบำรุง ต้นทุนค่าแรงต่างๆ ทั้งหมดต้องนำมาเป็นข้อมูลพิจารณาเกณฑ์การปรับลดค่าโดยสาร อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาในส่วนของรถขนส่งที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่รถโดยสารที่ใช้น้ำมันดีเซลนั้นเป็นรถของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ร่วมถึงรถร่วมเอกชนฯ บขส. ซึ่งคณะกรรมการฯการศึกษาต้นทุนของรถโดยสาธารณะได้สรุปผล โดยขณะนี้กรมการขนส่งทางบก ได้ปัจจัยต้นทุนออกมาแล้วและได้นำมาเทียบตารางราคาเชื้อเพลิงกับราคาโดยสารที่สามารถปรับลดได้ โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าประชุมคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง เพื่อหาข้อสรุปก่อนนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมซึ่งกระทรวงคมนาคมจะสรุปให้เสร็จภายในวันที่ 13 ส.ค.
ด้านนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า กรมขนส่งฯ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557 คณะกรรมการขนส่งทางบกลางได้มีมติให้ลดค่าโดยสารรถโดยสารหมวด 2 (กทม.-ต่างจังหวัด) และหมวด 3 (ระหว่างจังหวัดกับจังหวัด) ที่ 2 สต./กม. โดยราคาน้ำมันดีเซลขณะนั้นอยู่ที่ 26.89 บาท/ลิตร ขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 22.89 บาท/ลิตร โดยกระทรวงพลังงานและปตท.ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยของปี 2558 ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 25-26 บาทลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเดินรถโดยสารในเรื่องของค่าเชื้อเพลิงลดลง ซึ่งกรมขนส่งฯได้วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการเดินรถในช่วงเดือน ส.ค.ถึง ธ.ค. 2558 โดยใช้ราคาน้ำมันดีเซลปัจจุบัน และราคาประเมินที่คาดไว้ของปี 2558 รวมกับปัจจัยต้นทุนการเดินรถด้านอื่นๆ เช่น ค่าพนักงาน ค่าซ่อมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีการปรับลดตามราคาน้ำมันดีเซล
โดยเห็นว่าจะสามารถลดอัตราค่าโดยสารรถโดยสารหมวด 2 และหมวด 3 ได้ประมาณ 2-3 สต./กม. ซึ่งกรมขนส่งฯ จะสรุปกระทรวงคมนาคมทราบและนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางพิจารณาในการประชุมวันที่ 13 ส.ค. 2558 และคาดว่าจะประกาศบังคับใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2558 เป็นต้นไป โดยจะเป็นการปรับลดทั้งรถบขส.และรถร่วมบริการ บขส.
สำหรับรถโดยสารหมวด 4 ประเภทสองแถวซึ่งเป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นฐาน เช่นเดียวกับรถหมวด 2 และหมวด 3 นั้น อัตราค่าโดยสารที่กำหนดในปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 7 บาทตลอดสายเมื่อวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการเดินรถพบว่า อัตราค่าโดยสารที่ใช้ในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว จึงไม่มีการพิจารณาปรับแต่อย่างใด ส่วนรถเมล์ ขสมก.และรถร่วมบริการฯ ขสมก.นั้น ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง โดยรถร่วมฯ ขสมก.ใช้เอ็นจีวี 100% รถ ขสมก.ใช้เอ็นจีวีประมาณ 60% ดังนั้นจึงไม่ได้มีการพิจารณาปรับค่าโดยสารแต่อย่างใด
ด้านนางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร กล่าวว่า พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลในการลดราคาค่าโดยสาร จากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวลง ทั้งนี้ รัฐต้องช่วยผู้ประกอบการเนื่องจากขณะนี้ต้นทุนของผู้ประกอบการไม่ใช่ปัจจัยน้ำมันดีเซลอย่างเดียวแต่ประเด็นหลัก คือ ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการต่อเที่ยวลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีรถตู้ และสายการบินต้นทุนต่ำเข้ามาแข่งขันในเส้นทางสายสั้นและเส้นทางไกล โดยทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบกับการขาดทุนและไม่สามารถแบกรับภาระไหวต้องลดจำนวนรถลงไป 20-30% โดยปริมาณรถในปัจจุบันเหลือประมาณ 8,000 คัน จากที่เคยมีกว่า 10,000 คัน โดยผู้ประกอบการจะทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก รวมถึง บขส. เพื่อให้ช่วยเหลือ โดยขอให้ บขส.ยกเลิกการจัดเก็บค่าขาจากผู้ประกอบการ เป็นต้น