xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันดิ่งลุ้นลดค่าโดยสารรถ-เรือยกแผง “ประจิน” สั่งเร่งสรุปต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน” สั่งเร่งสรุป ปรับค่าโดยสารรถและเรือด่วน เรือแสนแสบ หลังน้ำมันดีเซลลดต่อเนื่อง รอผลศึกษาปัจจัยต้นทุน ค่าแรงใน 11 ส.ค. ส่วนเรือด่วนฯ กรมเจ้าท่าเตรียมเรียกผู้ประกอบการถกต้นทุน 13 ส.ค.พร้อมเปิดให้บริการท่าเรือปิ่นเกล้านำร่องหลังปรับปรุงระบบรอเชื่อมตั๋วร่วม



พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 22.89 บาท/ลิตร ว่า ในการพิจารณาราคาเรือโดยสารนั้น ขณะนี้จะต้องเร่งสรุปเรื่องค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง เช่น เรือด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ รวมถึงรถ บขส. และรถร่วมบริการเอกชน โดยค่าโดยสารของรถ บขส. รถ ขสมก.นั้นจะพิจารณารายละเอียดเรื่องของปัจจัยต้นทุนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 ส.ค.นี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้สั่งการ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สรุปรายละเอียด ส่วนของเรือนั้น ขณะนี้กรมเจ้าท่า (จท.) อยู่ระหว่างการรวบรวมปัจจัยต้นทุนต่างๆ ทั้งราคาน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา และค่าแรง เพื่อนำมาประกอบการศึกษา การพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม

“หลังจากราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง มีคำถามว่าทำไมยังไม่มีการปรับลดค่าโดยสารรถ เรือ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยกรมเจ้าท่ากำลังศึกษาต้นทุนที่แท้จริงอยู่ ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุปเรื่องของปัจจัยต้นทุนทางเรือ และสัปดาห์หน้าคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องค่าโดยสารเรือโดยสาร โดยจะต้องนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรือเดินประจำทาง โดยแนวโน้มน่าจะมีการปรับค่าโดยสารลง ซึ่งปัจจัยต้นทุนเชื้อเพลิง ค่าแรง ค่าดำเนินงานจะต่องสอดคล้องกับค่าโดยสารที่จัดเก็บ นอกจากนี้ การให้บริการต้องมีประสิทธิภาพด้วย” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

ด้านนายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ในวันที่ 13 ส.ค.นี้จะเชิญผู้ประกอบการเรือด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ และเรือโดยสารข้ามฟากมาหารือรายละเอียดโครงสร้างต้นทุนและอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมร่วมกัน ก่อนสรุปเรื่องการปรับค่าโดยสารต่อไป

โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ได้เป็นประธานเปิดท่าเรือสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ภายใต้โครงการก่อสร้างพัฒนาระบบขนส่งโดยสารสาธารณะทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือ รวมทั้งการเชื่อมต่อระบบขนส่งโดยสารและการใช้ระบบตั๋วร่วมกับระบบการขนส่งโดยสารสาธารณะทางด้านอื่นๆ ในอนาคต โดยมีการดำเนินงานพัฒนาร่วมกันกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการขยายและปรับปรุงท่าเรือเดิมในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 17 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี และโครงการก่อสร้างพัฒนาระบบขนส่งโดยสารสาธารณะทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 19 แห่ง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 จำนวน 3 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ท่าเรือสาทร และท่าเรือนนทบุรี ระยะที่ 2 ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 จำนวน 6 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือบางโพ ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือพรานนก ท่าเรือราชวงศ์ และท่าเรือสี่พระยา ระยะที่ 3 ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 จำนวน 10 ท่า ได้แก่ ท่าเรือปากเกร็ด ท่าเรือพระนั่งเกล้า ท่าเรือพระราม 5 ท่าเรือเกียกกาย ท่าเรือพายัพ ท่าเรือกรุงธน ท่าเรือพระอาทิตย์ ท่าช้าง ท่าเตียน และท่าราชินี เพื่อเป็นการยกระดับท่าเรือโดยสารและการเชื่อมต่อระบบขนส่งโดยสาร การใช้ระบบตั๋วร่วมกับระบบการขนส่งโดยสารสาธารณะในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น