ปตท.สผ.หดเป้าขายปิโตรเลียมปีนี้โตแค่ 3-6% จากปีก่อนที่ 3.21 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน เหตุความต้องการใช้ก๊าซฯ โตลดลง ราคา LNG ต่ำทำให้มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศ อีกทั้งแหล่งมอนทารามีปัญหาด้านอุปกรณ์และความล่าช้าในการผลิตน้ำมันดิบแหล่งเบอร์ซาบาที่แอลจีเรียถึง 6 เดือน ยัน ส.ค.นี้แหล่งเบอร์ซาบาเริ่มมีน้ำมันเข้าระบบ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ปรับลดเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมปีนี้โต 3-6% จากเดิมคาดว่าโต 6% จากปีก่อนที่มีปริมาณขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 3.21 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศปีนี้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้มีการเรียกใช้ก๊าซฯ จาก ปตท.โตน้อยกว่าที่คาด อีกทั้งราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกลดต่ำลงทำให้มีการนำเข้า LNG เข้ามาระยะสั้น
อีกทั้งแหล่งมอนทารา ที่ออสเตรเลีย มีปัญหาด้านอุปกรณ์ทำให้ต้องหยุดผลิตชั่วคราว และแหล่งเบอร์ซาบา ที่แอลจีเรีย มีการผลิตน้ำมันดิบที่ล่าช้ากว่าแผนเดิมนานครึ่งปี เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในแอลจีเรียเมื่อปีที่แล้วทำให้ขาดแคลนแรงงาน ทำให้กระทบต่อการพัฒนาโครงการ โดยคาดว่าแหล่งเบอร์ซาบาจะมีน้ำมันเข้าระบบได้(First Oil) ในเดือน ส.ค.นี้ และจะออกจำหน่ายในไตรมาส 4/2558 โดยแหล่งเบอร์ซาบาจะมีกำลังผลิตน้ำมันดิบ 2 หมื่นบาร์เรล/วัน
ส่วนโครงการออยล์แซนด์ที่แคนาดาคงต้องเลื่อนการตัดสินใจลงทุนออกไป เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง กอปรกับต้นทุนการผลิตสูง จำเป็นต้องหาวิธีการ เทคโนโลยีใหม่เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงกว่านี้ รวมทั้งรอจังหวะราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นด้วย จึงพร้อมที่จะลงทุนพัฒนาโครงการได้
จากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมาตั้งแต่ปี 2557 บริษัทได้มีการปรับลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนปีนี้ลงมาถึง 14% หรือคิดเป็นเงิน 600 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ มีผลให้ต้นทุนการผลิต (Unit Cost) ปีนี้ปรับลดลง 2-3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ทำให้ต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.ในปีนี้อยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ระดับ 50 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งการเลื่อนบางโครงการออกไป
นายเทวินทร์กล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2558 ว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 35 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับลดลง 525 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 93% สืบเนื่องจากผลกระทบสภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวน อีกทั้งยังประสบกับภาวะค่าเงินบาทอ่อนตัว ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการบันทึกค่าใช้จ่ายทางภาษีรอการตัดบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลง (Deferred Tax on Functional Currency) เป็นจำนวน 73 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจาก ปตท.สผ.ใช้สกุลเงินเหรียญสหรัฐในการจัดทำบัญชี ในขณะที่บริษัทต้องใช้สกุลเงินบาทในการยื่นภาษี ซึ่งรายการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทแต่อย่างใด
นอกจากนี้ บริษัทได้รับรู้ขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Hedging) จำนวน 56 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วย การรับรู้ขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงของสัญญาฯ ที่ครบกำหนดในไตรมาส 2 จำนวน 19 ล้านเหรียญสหรัฐ และการรับรู้ขาดทุนจากการตีราคาตามราคาตลาด (Mark-to-Market) สำหรับสัญญาฯ ที่ยังไม่ครบกำหนดอีก 37 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการรับรู้ตามหลักการทางบัญชีเท่านั้น โดยการรับรู้มูลค่าจริงของสัญญาฯ ที่เหลืออยู่จะเกิดขึ้นตามราคาน้ำมัน ณ วันที่สัญญาดังกล่าวครบกำหนดในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 58
“ในไตรมาส 2 บริษัทเจอพายุ 3 ตัว ส่งผลกระทบต่อกำไรบริษัทฯ มาก ทำให้กำไรหายไป 100 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ เหลือกำไรสุทธิเพียง 35 ล้านเหรียญ ดังนั้น หากไตรมาส 3 นี้ราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ระดับ 50 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรล บริษัทก็จะมีกำไรจากการทำเฮดจิ้งเข้ามาจากไตรมาส 2 ขาดทุน”