ASTVผู้จัดการรายวัน -ปัจจัยลบเพียบ ทั้งเศรษฐกิจแย่ กำลังซื้อหด โครงการภาครัฐเงินยังไม่ไหลเข้าระบบ ฟาดหางใส่อุตสาหกรรมค้าปลีกของไทย คาดปีนี้โตต่ำสุดแค่ 3% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ค้าปลีกไทย ชี้ครึ่งปีหลังยังต้องฝ่ามรสุมอีก
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 ประเมินว่ายังมีทิศทางที่ไม่สดใสมากนัก ยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะปัจจัยลบต่างๆ เช่น 1.อัตราการบริโภคของประชาชนลดลงอย่างมาก 2.จำนวนมากกว่า 60% ของประชากรทั้งประเทศมีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นมากกว่า 90% 3.ราคาผลิตผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อกลุ่มรากหญ้าและเกษตรลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ยังเป็นเรื่องน่าวิตก เพราะฉุดกำลังซื้อภาคเกษตร
อย่างไรก็ตาม ยังพอมีปัจจัยบวกที่อาจจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้างเช่น 1.คนไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น 12% รวมทั้งคนต่างประเทศเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น 23% ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนในระบบมากขึ้น 2.ราคาพลังงานที่ลดลงจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อพอมีขึ้นมาบ้าง 3.การประกาศพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะเกิดการจ้างงานและการขยายกำลังการผลิตต่างๆ 4.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่างๆ ทั้งสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตน์พันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมฯ กล่าวว่า สมาคมฯ ประเมินว่า ภาพรวมดัชนีค้าปลีกของไทยในปี 2558 คงจะเติบโตไม่เกิน 3% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในประวัติศาสตร์ค้าปลีกของไทยที่มีการเก็บตัวเลขก็ว่าได้ เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมาเช่น ปี 2553 โต 11%, ปี 2554 โต 8.7%, ปี2555 โต 12%, ปี2556 โต 6%, ปี 2557 โต 3.2% หรือค่าเฉลี่ยจะเติบโต 8% มาโดยตลอด แต่ปีนี้เติบโตต่ำมากๆ
นางสาวจริยา กล่าวต่อว่า ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรก 2558 ภาพรวมดัชนีค้าปลีกของไทยพบว่า เติบโตเพียง 2.8% เท่านั้น เพราะปัจจัยลบหลายอย่างทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่เอื้ออำนวยต่อการจับจ่าย ผู้บริโภคชะลอการใช้เงิน เป็นไปในทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีแรก 2558 ที่ชะลอตัวลง จากการประกาศตัวเลขจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ค่าจีดีพีของไทยอยู่ที่ 3% เท่านั้น ปัจจัยลบนี้ส่งผลกระทบต่อสินค้าหมวดคงทนเติบโตเพียง 2.7% ส่วนสินค้าหมวดกึ่งคงทนเติบโตเพียง 3% และสินค้าไม่คงทนเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน มีตัวเลขการจับจ่ายเติบโตเหลือ 2.8%
ส่วนครึ่งปีหลังกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ สินค้าอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและวัสดุก่อสร้างที่อาจจะดีคือกลุ่มอาหาร สำหรับการขยายตัวในด้านของการขยายสาขาของเชนค้าปลีกยังมีอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ชะลอแผนแต่อย่างใดในช่วงครึ่งปีแรก เช่น คอนวีเนียนสโตร์ เติบโต 2.8% ซูเปอร์มาร์เก็ต เติบโต 8.5% ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เติบโต 1.8% ห้างสรรพสินค้า เติบโต 3% และร้านค้าปลีกเฉพาะทาง เติบโต 2.7%
ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ประเมินด้วยว่า มูลค่าการบริโภคค้าปลีกในไทยมีประมาณ 3 ล้านล้าน - 3.2 ล้านล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งเป็นสัดส่วนของธุรกิจค้าปลีกเท่าไรนั้นไม่สามารถประเมินได้ แต่หากรวมเฉพาะสมาชิกของสมาคมฯอยู่ที่ 27% ของมูลค่าทั้งหมด
นางสาวจริยา ยังกล่าวให้ความเห็นกรณีกระแสข่าวที่จะมีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีด้วยว่า การปรับเปลี่ยน ครม. ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรกับธุรกิจค้าปลีก ส่วนอะไรก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันย่อมส่งผลกระทบแน่นอน อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ได้นำเสนอมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกผ่านไปยังภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย
1. ข้อเสนอแนะให้ภาครัฐกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเม้นต์เดียวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าสัดส่วน GDP จะไม่มากนัก แต่ประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงโรงแรมและภาคบริการในระดับโลก ดังนั้นเพื่อพัฒนาให้เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่ครบวงจร จึงควรใช้โอกาสช่วงไฮซีซั่นในครึ่งปีหลังกระตุ้นการท่องเที่ยว
2. เสนอแนะให้ภาครัฐพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มแฟชั่นชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็เพื่อเพิ่มมูลเหตุจูงใจให้ผู้บริโภคไทยหันกลับมาใช้จ่ายในประเทศอีกทางหนึ่ง