บอร์ด ทอท.อนุมัติงบ 547 ล้านจ้าง บ.ไทยโทรนิค ซ่อมบำรุงเครื่อง CTX สุวรรณภูมิอีก 4 ปี พร้อมเตรียมตั้งงบอีก 100 ล้านศึกษาเพื่อเปลี่ยนใหม่ให้ทันสมัย และลงทุนพร้อมการขยายเฟส 2 ชี้เครื่องเดิมเก่าแล้ว และเห็นชอบปรับแบบรันเวย์ 3 สร้างยาว 4 ,000 เมตร ประหยัดค่าปรับปรุงดิน 115 ล้าน ตั้งเป้าก่อสร้างปลายปี 59 “นิตินัย” เผยประสานอู่ตะเภาสำรอง 20 หลุมจอดรับมือผลตรวจ FAA-ICAO กรณีสายการบินของไทยถูกแบน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ได้มีมติเห็นชอบว่าจ้างบริษัท ไทยโทรนิค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทาง CTX อเมริกา ให้การรับรองเป็นผู้ดูแลซ่อมบำรุงระบบเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะเวลา 3 ปี 10 เดือน วงเงิน 547.073 ล้านบาท หลังจากสัญญาจ้างเดิมของบริษัท Morpho Detection International, LLC หมดอายุเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 ทั้งนี้ สัญญาดูแลซ่อมบำรุงเครื่อง CTX ทั้ง 26 เครื่องจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2562 ซึ่งจะพอดีกับที่การก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 และอาคารผู้โดยสารหลังใหม่จะเสร็จ
โดยในระหว่างนี้ ทอท.จะมีการศึกษาเทคโนโลยีของเครื่องตรวจวัตถุระเบิดที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งจะเสนอบอร์ดช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2558 เพื่อขออนุมัติว่าจ้างที่ปรึกษา วงเงินประมาณ 100 ล้านบาทเศษ โดยใช้งบเพิ่มเติมปี 2559 ใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปีกว่า และเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปี 2560-2561 ไม่ได้เปลี่ยนตอนนี้ แต่ต้องศึกษาก่อนล่วงหน้าเพราะต้องมีระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน ต้องทำแผนการปรับเปลี่ยนคู่ขนานไปด้วย
“การปรับเปลี่ยนเครื่องซีทีเอ็กซ์ที่สุวรรณภูมินั้นเพราะใช้งานมาตั้งแต่เปิดสุวรรณภูมิและจะใช้ต่อไปอีก 4 ปี รวม 14 ปี ดังนั้นความเร็วคงสู้รุ่นใหม่ไม่ได้ เชื่อว่าน่าจะต้องเปลี่ยนแต่ต้องดูผลศึกษาก่อน โดยจะประเมินร่วมกับประมาณการปริมาณผู้โดยสารของอาคารผู้โดยสารหลักและอาคารใหม่จะแบ่งสัดส่วนอย่างไร และมาดูขีดความสามารถของแต่ละยี่ห้อ ซึ่งขณะนี้มียี่ห้อ CTX และ L3 ที่มีสัดส่วนการใช้กว่า 80% ของทั้งโลก” นายนิตินัยกล่าว
***ปรับแบบรันเวย์ 3 สร้างยาว 4 ,000 เมตร ประหยัดค่าปรับปรุงดิน 115 ล้าน
นอกจากนี้ บอร์ดยังมีมติเปลี่ยนแผนการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) จากความยาว 3,700 เมตร เป็น 4,000 เมตร เนื่องจากจะดำเนินการก่อสร้างได้รวดเร็วและประหยัดค่าก่อสร้างลง 115 ล้านบาทจากเดิม โดยมีค่าก่อสร้างที่ 6,312 ล้านบาท ค่าก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างรันเวย์ประมาณ 3,000 ล้านบาท และค่าชดเชยผลกระทบทางเสียงประมาณ 10,000 ล้านบาท เพราะความยาวที่ 4,000 เมตรสอดคล้องกับการปรับปรุงคุณภาพดินที่เตรียมไว้แล้วว่า จะมีจุดวงเลี้ยว จุดเชื่อมแท็กซี่เวย์ และระบบระบายน้ำ หากทำที่ 3,700 เมตรจะต้องปรับจุดแท็กซี่เวย์ใหม่ ซึ่งแนวที่ขยับไม่ได้มีการปรับปรุงคุณภาพดินไว้ต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 8 เดือน และเป็นระยะที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เมื่อเดือน มิ.ย. และเชื่อมโยงเรื่องเส้นเสียง และสามารถรองรับอากาศยานรวม 11 ประเภท คือ รุ่นท็อป 10 และเครื่องบินโบอิ้ง 787 ที่เป็นดาวรุ่ง ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติ EHIA ในเดือน ต.ค. 2558 เริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2559 โดย ทอท.จะของบปี 2559 เพิ่มเติมเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบอีกประมาณ 100 ล้านบาทเศษด้วย
ส่วนการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้ปรับลดวงเงินลงได้แล้ว 5,600 ล้านบาท และผ่านการพิจารณา EIA แล้วเมื่อเดือน พ.ค. 2558 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน คือ 1. งานฐานราก งานวิศวกรรม อุโมงค์รถไฟฟ้าเชื่อม และ 28 หลุมจอด คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาเดือน ก.พ. 2559 เริ่มก่อสร้าง มี.ค. 2559 ระยะเวลาก่อสร้าง 33 เดือน กลุ่มที่ 2 งานสถาปัตยกรรม อาคาร สะพานเทียบเครื่องบิน เคาน์เตอร์เช็กอิน ต้องรอกลุ่มที่ 1 ประมูลจบก่อนจึงจะรู้สเปกงาน คาดเริ่มก่อสร้างได้เดือน มิ.ย. 2559 กลุ่มที่ 3 เป็นงานระบบไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภคต่างๆ จะได้ผู้รับเหมาเดือน ก.พ. 2559 เริ่มก่อสร้าง มี.ค. 2559 ระยะเวลาก่อสร้าง 27 เดือน
นายนิตินัยกล่าวว่า ในส่วนของการให้บริการที่สนามบินดอนเมืองเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยนั้น ได้มีการปรับมาใช้ระบบการตรวจสอบโดยเพิ่มเจ้าหน้าที่ 32 คนมาทำงานร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ 7 เครื่อง เพื่อแก้ปัญหาช่วง 2 เดือนก่อนเปิดอาคารผู้โดยสาร 2 โดยอาคาร 1 มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารที่ 18.5 ล้านคนต่อปีแต่มีผู้โดยสารจริงถึง 22 ล้านคนต่อปีแล้ว เมื่อเปิดอาคาร 2 จะรองรับเพิ่มเป็น 30 ล้านคนต่อปี จะสะดวกมากขึ้น และจะมีการปรับปรุงเครื่องเอกซเรย์ใหม่เป็นระบบ Inline Screening ซึ่งจะติดตั้งครอบที่สายพานพร้อมเครื่องอ่านไอระเบิดต่างๆ ตรวจกระเป๋าหลังจากผ่านเช็กอินแล้ว ทำหน้าที่คลาย CTX ซึ่งการที่ไม่ซื้อเครื่อง CTX เลยเพราะจะต้องพิจารณาที่ปริมาณผู้โดยสารและยังต้องมีการสร้างสายพานลำเลียงการลำเลียงกระเป๋ารองรับเฉพาะ ซึ่งทั้ง 5 สนามบินของ ทอท.จะยังไม่ใช้ CTX เพราะใช้คนในการช่วยตรวจได้
และบอร์ดรับทราบความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหากรณีที่อาจเกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ทอท. จากโครงการการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือน (USOAP) และเตรียมความพร้อมในการรองรับโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน (USAP) ซึ่ง ทอท.ได้จัดทำแผนรองรับในกรณีที่อาจได้รับผลกระทบและการตรวจสอบ ซึ่งได้มีหนังสือถึงกองทัพอากาศ กรมการบินพลเรือน และท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อขอสำรองพื้นที่จอดเครื่องบิน และในส่วน FAA ได้ใช้ผลการตรวจของ ICAO ทำการตรวจกิจการการบินของประเทศไทย โดยให้เวลาในการแก้ไข 65 วัน นับตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจจะมีสายการบินถูกสั่งระงับไม่ให้บินเข้าประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น จะมีเครื่องบินมาจอดหลุมจอดที่สนามบินของ ทอท. ซึ่งทางอู่ตะเภาตอบรับแล้วใช้ได้ประมาณ 20 หลุมจอด