กรมทางหลวงเร่งเครื่องมอเตอร์เวย์ 3 สาย ดีเดย์ ส.ค.นี้ประกาศทีโออาร์ สายพัทยา-มาบตาพุด 2.02 หมื่นล้าน ประมูล อี-บิดดิ้ง นำร่อง ตั้งเป้าตอกเข็มใน ต.ค. 58 ส่วนบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดขายซองต้นปี 59 คาดคลังออกพันธบัตรระดมเงินค่าก่อสร้าง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 3 เส้นทาง คือ สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 20,200 ล้านบาท สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 84,600 ล้านบาทและสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 55,620 ล้านบาท หลังจากนี้กรมทางหลวง (ทล.) จะเร่งกระบวนการออกประกาศร่างทีโออาร์จัดซื้อจัดจ้างสายแรกคือ พัทยา-มาบตาพุด เนื่องจากมีความพร้อมด้านค่าก่อสร้างซึ่งจะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ส่วนสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาจัดหาเงินลงทุนภายในประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นการออกพันธบัตรเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการ แต่หากไม่ กู้เงินภายในประเทศ
ด้านนายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบรายละเอียดแบบในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งแบ่งการก่อสร้างเป็น 13 สัญญา มูลค่าสัญญาละประมาณ 800-900 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศร่างทีโออาร์ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-บิดดิ้ง (Electronic Bidding : e-bidding) มอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด ภายในเดือน ส.ค. 2558 นี้ โดยจะทยอยประกาศทีโออาร์เป็นชุด ชุดละ 3-4 ตอนครบทั้ง 13 สัญญา ในเดือน ก.ย. 2558 และเริ่มการก่อสร้างได้ในเดือน ต.ค. 2558 ส่วนงานระบบอีก 1 สัญญานั้นจะประกวดราคาหลังจากนั้น ส่วนการประกวดราคาสายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายบางปะอิน-นครราชสีมา การออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาแบ่งจำนวนสัญญาก่อสร้าง โดยมูลค่าสัญญาละประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะประกาศร่างทีโออาร์ได้ต้นปี 2559
“สายทางพัทยา-มาบตาพุด ได้รับอนุมัติงบประมาณเวนคืนในปี 2558 ที่ 1,440 ล้านบาท ส่วนปี 2559 อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งออกเป็น พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเรียบร้อย ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ตั้งงบประมาณเวนคืนในปี 2559 ไว้จำนวน 500 ล้านบาท ส่วนสายบางปะอิน-นครราชสีมา ตั้งงบประมาณเวนคืนในปี 2559 ไว้จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยผู้รับเหมาที่ขึ้นทะเบียนไว้ที่กรมทางหลวงในชั้นพิเศษจำนวน 54 รายจะมีสิทธิ์ยื่นประมูล ซึ่งถือเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาไทยได้เข้าร่วมมากที่สุด” นายชูศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ในการจัดเก็บค่าผ่านทางนั้น สายพัทยา-มาบตาพุด กรมทางหลวงจะดำเนินการเองเนื่องจากมีความพร้อมบุคลากรอยู่แล้ว ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายบางปะอิน-นครราชสีมานั้นมีแนวคิดในการว่าจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทางให้บริการและซ่อมบำรุงเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยรายได้จากค่าผ่านทางจะนำส่งเข้ากองทุนมอเตอร์เวย์ ซึ่งปัจจุบันมีเงินสะสมประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาท โดยมีรายได้จากค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ สาย 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี) และมอเตอร์เวย์สาย 9 (วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก ช่วงบางพลี-บางปะอิน) ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี มีรายจ่ายประมาณ 3,000 ล้านบาท