xs
xsm
sm
md
lg

ประมงหยุดหาปลา ส่งออกทูน่าไม่กระทบ แต่ผู้ผลิตปลาป่นกระอัก จ่อขึ้นราคา 5-10%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เรียกผู้ส่งออกสินค้าประมงหารือ ยันไม่กระทบการส่งออก เหตุทูน่าซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง ใช้วัตถุดิบนำเข้า แต่ปลาป่นรับได้รับผลกระทบหนัก ทำให้ต้องปรับขึ้นราคา 5-10%

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังหารือกับสมาคมอาหารทะเลที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ได้แก่ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่า สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเรือประมงของรัฐบาล โดยระบุว่าการส่งออกอาหารทะเลของไทยไม่ได้รับผลกระทบจากการหยุดเดินเรือในครั้งนี้ โดยเฉพาะสินค้าปลาทูน่า ที่เป็นกลุ่มส่งออกอาหารทะเลอันดับหนึ่งของไทย เพราะวัตถุดิบที่นำมาใช้เกือบทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ หรือมีการนำเข้าปลาทูน่าปีละ 8-9 แสนตัน ไม่ได้ใช้วัตถุดิบในประเทศ

“ปลาทูน่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ถูกนำมาผลิตและส่งออก ซึ่งเศษซากของของปลาทูน่าก็จะนำมาผลิตในอุตสาหกรรมปลาป่น เพื่อทดแทนวัตถุดิบปลาป่นที่ต้องใช้ในประเทศได้บางส่วน จึงยืนยันว่าภาคการส่งออกไม่ได้รับผลกระทบจากการหยุดเดินเรือในรอบนี้”

นายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมปลาป่นได้รับผลกระทบจากกรณีที่เรือประมงหยุดหาปลา เพราะวัตถุดิบที่นำมาผลิตปลาป่นและสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ลูกชิ้น ปูอัด ต้องใช้วัตถุดิบที่มาจากเรือประมงมากกว่า 50% ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาปลาป่นขึ้นมาประมาณ 5-10% หรือ 1-2 บาท/กก. จากราคาปกติ

ส่วนปลาป่นที่นำไปใช้ทำอาหารสัตว์ ขณะนี้เชื่อว่าจะยังไม่มีผลกระทบที่ทำให้อาหารสัตว์ขาดแคลน เพราะยังมีสต๊อกล่วงหน้าไว้ใช้ได้ถึง 6 เดือน หรือสิ้นปีนี้

“อุตสาหกรรมปลาป่นคงได้รับผลกระทบ และต้องปรับราคาขึ้น แต่ก็สนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาเรือประมงของรัฐบาล โดยต้องการให้รัฐบาลเร่งในเรื่องการออกกฎระเบียบเรือประมงอีก 2,000 ลำ ที่ยังไม่มีอาชญาบัตร หรือใบอนุญาตทำประมงให้ถูกต้อง” นายสงวนศักดิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น