xs
xsm
sm
md
lg

กต.แถลงการณ์ ผิดหวังอียูแจกใบเหลืองไทย เหตุยังมีประมงเถื่อน

เผยแพร่:

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) ได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้ลงมติภาคทัณฑ์ หรือให้ใบเหลืองกับประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก เพื่อแจ้งเตือนไทยอย่างเป็นทางการต่อกรณีที่ยังไม่มีมาตรการเพียงพอตามกฎระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม หรือกฎระเบียบ (ไอยูยู) ทั้งนี้ไทยมีเวลาอีก 6 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหากิจการประมงผิดกฎหมาย ส่วนเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ ได้ยกเลิกคำเตือนแล้ว หลังจากดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขระบบกฎหมาย และมีนโยบายเชิงรุกในการแก้ไขเรื่องนี้ โดยนายคาร์เมนู เวลลา กรรมาธิการสหภาพยุโรป ด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และการประมง ระบุว่า เราขอเรียกร้องให้ไทยเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยอียูจะประสานกับทางการไทยเพื่อปรับปรุงกฎหมายภาคการประมง แต่ถ้าสถานการณ์ของไทยยังไม่มีการพัฒนา สินค้าประมงของไทย ก็จะถูกสั่งห้ามนำเข้าอียู เหมือนกับที่ได้เกิดขึ้นกับกัมพูชา ศรีลังกา กินี และเบลิซแล้ว

ด้านนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการที่อียู ประกาศให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย จากกรณีการทำกิจการประมงที่ผิดกฎหมาย ว่า แม้การประกาศครั้งนี้เป็นการเตือน โดยยังไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังอียู แต่กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งว่าประเทศไทยรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจออกประกาศเตือนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่าอียูไม่ได้ตระหนักถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทย ในการแก้ปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือไร้ระเบียบ รวมถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูในการต่อต้านการประมงผิดกฎหมายที่มีมายาวนาน อีกทั้งไทยขอเรียกร้องให้อียูพิจารณาการดำเนินการของไทยในเชิงเทคนิคตามหลักเกณฑ์ รวมถึงมาตรฐานที่มีความโปร่งใสและเที่ยงตรง อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในไทย นอกจากนี้ไทยจะสานต่อความร่วมมือกับอียู เพื่อให้ไทยออกจากกลุ่มที่ถูกประกาศเตือน รวมทั้งสามารถแก้ไขและป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือไร้ระเบียบต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

นายเสข กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเล และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ ที่ต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลัก ได้เป็นผู้นำในการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนงานหลัก 6 แผนงาน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับปรุงพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การประมงและกฎหมายลำดับรอง การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง เป็นต้น และรัฐบาลยังคงดำเนินการอย่างแข็งขันในการแก้ปัญหาภายใต้การนำของผู้นำระดับสูงต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น