หอการค้าไทยค้านขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาทต่อวัน เหตุเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการกระทบการทำธุรกิจหลังเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี แนะหากจำเป็นต้องปรับให้ขึ้นตามพื้นที่และตามฝีมือแรงงาน
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2559 ว่า หากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาทจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและการประกอบธุรกิจ เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ มีปัจจัยที่ยังเป็นตัวฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเห็นว่ายังเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างในขณะนี้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ 89% ระบุว่าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาทจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดย 24.1% ระบุว่า ต้นทุนแรงงานสูงขึ้น 22.32% ระบุว่ากำไรลดลงหรือขาดทุน 18.1% ระบุว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขณะที่ 11.31% ระบุว่าต้องปลดคนงานลง และ 9.12% ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น
“ปี 2555 เป็นครั้งแรกของการประกาศขึ้นค่าแรง ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบมากพอสมควร เนื่องจากเป็นช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์น้ำท่วม ต่อมาปี 2556 มีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนเพิ่ม กำไรลดลง และมีการลดการจ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจปีนั้นเติบโตเพียง 2-3% กระทั่งปี 2557 ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เศรษฐกิจยิ่งเลวร้ายลง ทั้งปีเติบโตเพียง 0.9% ถ้าจะมีการขึ้นค่าแรงอีกก็จะยิ่งส่งผลกระทบ”
อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบเหมาะสม ผู้ประกอบการ 36.5% เห็นว่าควรกำหนดค่าจ้างตามพื้นที่ และ 29.8% เห็นว่าควรกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 293.45 บาทต่อวัน โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลเฉลี่ยที่ 299.39 บาท ภาคกลางเฉลี่ยที่ 304.76 บาท ภาคเหนือเฉลี่ยที่ 274.06 บาท ภาคใต้เฉลี่ย 300.58 บาท และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลี่ย 272.63 บาท
นายภูมินทร์กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในสถานการณ์ข้อมูลปัจจุบันเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหมาะสมของค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอ ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่เป็นการสำรวจจากนายจ้างเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อหาจุดร่วมหรือทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะต่อเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำต่อรัฐบาลแล้ว
โดยข้อเสนอแนะมีจำนวน 7 ข้อ ได้แก่ 1. ควรคงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อไปอีก 2. ควรมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ 3. ควรมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามประเภทธุรกิจและฝีมือแรงงาน 4. ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด 5. ควรมีการฝึกและประเมินฝีมือแรงงานก่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละประเภทธุรกิจ 6. ควรมีมาตรฐานวิชาชีพที่มีทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานตามความสามารถและระดับรายได้ และ 7. รัฐบาลควรมีการส่งเสริมรัฐสวัสดิการให้ประชาชน เช่น การรักษาที่มีคุณภาพ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน