หอการค้าไทยเผยผลสำรวจการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ชี้หากปรับค่าจ้าง 360 บาทจะส่งผลกระทบธุรกิจกว่า 89% พร้อมต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเกือบ 10% ด้านผู้ประกอบการยันไม่ควรซ้ำเติมภาคธุรกิจ เชื่อยังไม่ถึงเวลาปรับขึ้นค่าจ้าง
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจทัศนะเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2559 โดยสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการทั่วประเทศ จำนวน 218 ราย พบว่า หากมีการปรับอัตราค่าแรงขึ้นเป็น 360 บาทจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากถึงร้อยละ 89 แบ่งเป็น ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นร้อยละ 24.1 กำไรจะลดลงหรือขาดทุนร้อยละ 22.32 ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ร้อยละ 18.1 ปลดคนงานร้อยละ 11.31 หาเครื่องจักรดำเนินการแทนแรงงานร้อยละ 10.79 และต้องปรับราคาสินค้าขึ้นร้อยละ 9.12
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการยังเห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังเติบโตไม่เต็มที่ ดังนั้นยังไม่ถึงเวลาที่จะปรับค่าจ้างขึ้นเพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการร้อยละ 36.5 เห็นว่าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมควรจะกำหนดตามพื้นที่ และร้อยละ 29.8 เห็นว่าควรกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 293.45 บาทต่อวัน โดยภาคกลางสูงสุดที่ 304.66 บาทต่อวัน รองลงมา ภาคใต้เฉลี่ยอยู่ที่ 300.6.58 บาทต่อวัน กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 272 บาทต่อวัน
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยยังกล่าวต่อว่า ควรคงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง และกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ตามประเภทธุรกิจและฝีมือแรงงาน และควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ขณะเดียวกันต้องมีการฝึกฝีมือแรงงาน และมีมาตรฐานวิชาชีพเพื่อศักยภาพของแรงงานตามความสามารถและระดับรายได้ รวมถึงรัฐบาลต้องมีสวัสดิการให้แรงงานเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพอีกด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *